ผลของการบริหารยาฉีดอีนอกซาพารินทางชั้นใต้ผิวหนังต่อภาวะเลือดออก ความปวด และระยะเวลารู้สึกปวดในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ผู้แต่ง

  • สุวรรณี ศิริแสงตระกูล
  • ชวนพิศ ทำนอง

คำสำคัญ:

การบริหารยาฉีดอีนอกซาพาริน เลือดออกใต้ผิวหนัง ความปวด ระยะเวลารู้สึกปวด โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบสุ่มบูรณ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการบริหารยาฉีดอีนอกซาพารินทางชั้นใต้ผิวหนังต่อภาวะเลือดออก ความปวด และระยะเวลารู้สึกปวดในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน กลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดียว คือ ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในหอผู้ป่วยอายุรกรรม ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่าง มกราคม – มีนาคม 2556 จำนวน 22 ราย แต่ละคนจะได้รับฉีดยาอีนอกซาพารินด้วยแนวทางการบริหารยาที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ร่วมกับเทคนิคระยะเวลาเดินยาที่ต่างกัน 3 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1 เดินยา 10 วินาที รอ 10 วินาที วิธีที่ 2 เดินยา 20 วินาที และ วิธีที่ 3 เดินยา 30 วินาที ฉีดห่างกันครั้งละ 12 ชั่วโมง จับสลากสุ่มลำดับวิธีฉีด เครื่องมือคือแนวทางการบริหารยาฉีดอีนอกซาพารินทางชั้นใต้ผิวหนังจากการทบทวนวรรณกรรม และอธิบายด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎีการปรับตัวด้านสรีรวิทยาของรอย บันทึกด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกภาวะแทรกซ้อนเลือดออกใต้ผิวหนัง และแบบประเมินความปวดและการรับรู้ต่อความปวด วิเคราะห์ด้วยสถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi-square และ One–way ANOVA ผลการวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับการบริหารยาฉีดอีนอกซาพารินทางชั้นใต้ผิวหนังมีการปรับตัวด้านสรีรวิทยาต่อภาวะเลือดออกใต้ผิวหนัง ความปวด และระยะเวลารู้สึกปวดตรงตำแหน่งฉีดยาแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และสิ่งเร้าร่วมด้านอายุมีความสัมพันธ์กับขนาดของเลือดออกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.035) และดัชนีมวลกายมีความสัมพันธ์กับการเกิดเลือดออกใต้ผิวหนังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.023) พยาบาลควรนำแนวทางการบริหารยาฉีดอีนอกซาพารินใช้ควบคู่กับเทคนิคระยะเวลาเดินยาแต่ละวิธีเพื่อลดเลือดออกใต้ผิวหนัง ความปวด และระยะเวลารู้สึกปวดในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่ได้รับยาอีนอกซาพาริน และเลือกใช้ให้เหมาะกับลักษณะผู้ป่วยแต่ละราย

Downloads