แบบแผนอาการเหนื่อยล้า การจัดการและผลลัพธ์ของการจัดการอาการ ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด
คำสำคัญ:
อาการเหนื่อยล้า การจัดการอาการ ผลลัพธ์ของการจัดการอาการ มะเร็งปากมดลูก รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดบทคัดย่อ
การวิจัยแบบบรรยายชนิดติดตามไปข้างหน้าครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแบบแผนอาการเหนื่อยล้า การจัดการ และผลลัพธ์ของการจัดการอาการเหนื่อยล้าในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด ตามรูปแบบการจัดการอาการของดอดด์และคณะ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ที่ได้รับรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดชนิดซิสพลาติน จำนวน 30 ราย เก็บข้อมูลตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2555 ถึง เดือนพฤษภาคม 2556 โดยใช้เครื่องมือทั้งหมด 3 ชุด ได้แก่ 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลความเจ็บป่วย 2) แบบประเมินอาการเหนื่อยล้าของไปเปอร์และคณะ ฉบับแปลเป็นภาษาไทย และ3) แบบสอบถามวิธีการจัดการอาการและประสิทธิภาพของวิธีการจัดการ ติดตามเก็บข้อมูลทุกสัปดาห์หลังได้รับเคมีบำบัดเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย
ผลการวิจัย พบว่า แบบแผนอาการเหนื่อยล้าของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นแบบเริ่มเกิดอาการเหนื่อยล้าเล็กน้อยใน 3 สัปดาห์แรกหลังได้รับการรักษาและค่อย ๆ มีอาการเพิ่มขึ้นเป็นระดับปานกลางในสัปดาห์ที่ 4-5 และอาการเหนื่อยล้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นระดับมาก ในสัปดาห์ที่ 6 วิธีการจัดการอาการเหนื่อยล้าที่กลุ่มตัวอย่างใช้มากที่สุด คือ การนอนหลับพักผ่อน รองลงมาได้แก่ การหยุดทำงานและหยุดกิจกรรมต่าง ๆ การดื่มเครื่องดื่ม/อาหารเสริม การสวดมนต์/ทำสมาธิ และการสูดอากาศบริสุทธิ์ ส่วนวิธีที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการเหนื่อยล้ามากที่สุด คือ การนอนหลับพักผ่อน รองลงมาได้แก่ การสวดมนต์/ทำสมาธิ การดื่มเครื่องดื่ม/อาหารเสริม การสูดอากาศบริสุทธิ์ และการหยุดทำงาน/หยุดทำกิจกรรม ตามลำดับ
ผลการศึกษานี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับพยาบาลในการประเมินเกี่ยวกับประสบการณ์อาการเหนื่อยล้า ส่งเสริมการเลือกวิธีการจัดการอาการให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะราย รวมทั้งสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาโปรแกรมการจัดการอาการเหนื่อยล้าต่อไป