ภาวะโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรง

ผู้แต่ง

  • สุดใจ ปลัดขวา

คำสำคัญ:

บาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรง การประเมินภาวะโภชนาการ ภาวะโภชนาการ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา  การเกิดภาวะทุพโภชนาการ และติดตามประเมินภาวะโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรงที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ กลุ่มตัวอย่างถูกเลือกอย่างเจาะจงจากผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรงตั้งแต่เริ่มเข้ารับการรักษาจนถึงจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล จำนวน  22  ราย การเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2555  การเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปและข้อมูลภาวะโภชนาการในผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะระดับรุนแรง ได้แก่ น้ำหนัก ส่วนสูง และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลงของภาวะโภชนาการ ซึ่งความรุนแรงของภาวะทุพโภชนาการแตกต่างกันในแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้ ดัชนี  BMI  ชี้ว่าผู้ป่วยเกิดภาวะทุพโภชนาการในช่วงสัปดาห์ที่ 1 (ระดับเล็กน้อย ร้อยละ 4.5)  ดัชนีร้อยละของน้ำหนักตัวที่ลดลงเปรียบเทียบกับน้ำหนักตัวแรกรับ ชี้ว่าผู้ป่วยเกิดภาวะทุพโภชนาการในช่วงสัปดาห์ที่ 1 (ระดับรุนแรง ร้อยละ 90.9) ดัชนีTSF ชี้ว่าผู้ป่วยเกิดภาวะทุพโภชนาการในช่วงสัปดาห์ที่ 1 (ระดับเล็กน้อย ร้อยละ 45.5) ดัชนี MAMC ชี้ว่าผู้ป่วยเกิดภาวะทุพโภชนาการในช่วงสัปดาห์ที่ 2 (ระดับเล็กน้อย ร้อยละ 4.5) ผลการติดตามและประเมินภาวะทุพโภชนาการของผู้ป่วยตลอดช่วงเวลาการอยู่รักษาในโรงพยาบาล พบว่า ร้อยละความผิดปกติของภาวะโภชนาการและความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาที่รับการรักษาในโรงพยาบาล

ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าภาวะทุพโภชนาการยังเป็นปัญหาสำคัญของโรงพยาบาล ซึ่งบุคลากรในทีมสุขภาพไม่ควรละเลย และควรร่วมมือกันในการติดตามประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นระยะๆอย่างสม่ำเสมอตลอดการอยู่รักษา เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

Downloads