นมแม่: ความสำเร็จตามบันได10ขั้นกับบทบาทของพยาบาล

ผู้แต่ง

  • พิสมัย วงศ์สง่า

คำสำคัญ:

นมแม่ บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จ บทบาทของพยาบาล

บทคัดย่อ

นมแม่เป็นอาหารธรรมชาติที่ดีและมีความเหมาะสมสำหรับทารก โดยในปีพ.ศ. 2544 องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเซฟ(UNICEF)และองค์กรพันธมิตรนมแม่โลก(WABA)ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญ ในการสนับสนุนแม่หลังคลอดทั่วโลกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนานถึง 6 เดือนโดยใช้หลักบันได10 ขั้นเป็นยุทธวิธีสำคัญในการปฏิบัติ1 สำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบายแนะนำให้แม่หลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อสิ้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) แม่ทุกคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนร้อยละ 30  แต่จากผลการสำรวจอนามัยเจริญพันธุ์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปีพ.ศ. 2552 พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดของประเทศไทยมีเพียงร้อยละ 15.1 ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดของประเทศในแถบเอเชีย (โดยอยู่อันดับรองจากประเทศเวียดนามและประเทศพม่า) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 36.8 และประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่อย่างเดียวช่วง 6 เดือนแรกสูงที่สุดคือประเทศกัมพูชามากถึงร้อยละ73.52 เมื่อพิจารณาตามรายภาคพบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีความแตกต่างกันมากโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนการให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวสูงที่สุดร้อยละ 26.9 รองลงมาคือภาคใต้ ร้อยละ 10.4 และน้อยที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้น โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 41.6 ให้ลูกดื่มนมแม่และเครื่องดื่ม/อาหารอื่นเช่นน้ำผลไม้ นมผง  และอีกร้อยละ 27.3 ดื่มนมแม่และน้ำในช่วง 6 เดือนแรก3 ทั้งนี้จากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดไม่ประสบผลสำเร็จได้แก่ การที่แม่ไม่ได้รับการดูแลหรือคำแนะนำในระยะตั้งครรภ์ การขาดทักษะ และประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้แม่ไม่เข้าใจ ขาดความรู้รวมทั้งไม่มีที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่4 จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องได้รับการพัฒนาแนวทางในการให้ความรู้ ทักษะเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ถูกต้องรวดเร็วโดยใช้แนวนโยบายปฏิบัติตามบันได10 ขั้นที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

บทความนี้ จึงนำเสนอแนวทางการปฏิบัติการพยาบาลด้านการช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุนสู่ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เริ่มต้นตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอด โดยใช้แนวปฏิบัติของบันได 10 ขั้นตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข

Downloads