อัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้างเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก ความพึงพอใจในภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่างและความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในผู้หญิงไทยวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จ.สุราษฎร์ธานี

ผู้แต่ง

  • ดาราวรรณ รองเมือง

คำสำคัญ:

อัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้าง ความพึงพอใจในภาพลักษณ์ พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ ผู้หญิงไทย

บทคัดย่อ

ผู้หญิงที่มี ความกังวลเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก ไม่พึงพอใจในรูปร่าง มีแนวโน้มที่จะเกิดความผิดปกติของการรับประทานอาหาร ในประเทศไทยงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ของอัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้างเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก ความพึงพอใจในภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่าง และความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารยังมีจำกัด การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้างเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก ความพึงพอใจในภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่าง และความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ในผู้หญิงไทยวัยผู้ใหญ่ตอนต้น และเพื่อกำหนดคะแนนจุดตัดขั้นต่ำที่เหมาะสมของมาตรประมาณค่า เพื่อใช้ในการนิยามอัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้างในผู้หญิงไทย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงที่มีอายุ 18-24 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง แบบเจาะจง จำนวน 381 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การประยุกต์ Receiver Operator Characteristic (ROC) curve สถิติทดสอบไค-สแควร์ และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า 1. คะแนนจุดตัดขั้นต่ำของมาตรประมาณค่า เท่ากับ 7-11 เป็นจุดตัดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหญิงไทย ที่ใช้ในการนิยามอัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้าง (AUC = .72, 95% CI, .61-.82, SE=.05) 2. อัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้างเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก มีความสัมพันธ์กับความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่าง (= 91.99, df = 3, p < .001) กล่าวคือบุคคลที่มีอัตมโนทัศน์เกี่ยวกับกับรูปร่างและน้ำหนัก มีแนวโน้มที่จะมีความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่าง 3. อัตมโนทัศน์เชิงโครงสร้างเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ( = 10.19, df = 1, p < .003) กล่าวคือบุคคลที่มีอัตมโนทัศน์เกี่ยวกับกับรูปร่างและน้ำหนัก มีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร 4. ความไม่พึงพอใจในภาพลักษณ์เกี่ยวกับรูปร่างมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร (r=.49, p< .001) สรุปได้ว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างและน้ำหนัก มีความสัมพันธ์กับความไม่พึงพอใจในรูปร่าง และพฤติกรรมการการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ บุคลากรในทีมสุขภาพควรตระหนัก และเห็นความสำคัญของการประเมินความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารในผู้หญิงและสามารถหาแนวทางบำบัดได้อย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวต่อไป

Downloads