ความคาดหวังและการรับรู้คุณภาพการบริการพยาบาลของผู้ใช้บริการ ในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวช โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย

ผู้แต่ง

  • บัวหลวง สำแดงฤทธิ์
  • นวพร โลหเจริญวนิช

คำสำคัญ:

ความคาดหวัง/ การรับรู้การได้รับการบริการพยาบาล/ ผู้ใช้บริการทางนรีเวช

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงบรรยายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงระดับความคาดหวัง การรับรู้การได้รับการบริการจาก

พยาบาลและเปรียบเทียบความคาดหวังและการรับรู้การได้รับการบริการพยาบาลของผู้ใช้บริการในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวช รวมทั้งศึกษาเปรียบเทียบความคาดหวังและการรับรู้การได้รับการบริการพยาบาลของกลุ่มสตรีที่มาใช้บริการทั่วไปและกลุ่มมะเร็งนรีเวชในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวช  โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นสตรีที่มารับบริการรักษาในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวชโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย จำนวน 315 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วย (1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและอาการที่มารับการรักษา และ (2) แบบสอบถามความคาดหวังและการรับรู้คุณภาพการบริการพยาบาลของสุนันทา ยอดเณรและคณะ(2551) วิเคราะห์โดยใช้สถิติบรรยายและเปรียบเทียบความแตกต่างโดยใช้สถิติ Wilcoxson signed ranks test เนื่องจากข้อมูลไม่มีการแจกแจงแบบปกติ (Normal distribution)

ผลการวิจัยพบว่า ระดับคุณภาพการบริการพยาบาลตามความคาดหวังและการรับรู้การได้รับการบริการจากพยาบาลของผู้ที่มาตรวจในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวช มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงทั้งโดยรวมและรายด้านทั้ง 5 ด้าน ผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างความคาดหวังและการรับรู้การได้รับบริการพยาบาล พบว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งโดยรวมและรายด้านทั้ง 5 ด้าน สำหรับผลการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างความคาดหวังการบริการพยาบาลในกลุ่มสตรีที่มาใช้บริการทั่วไปและกลุ่มมะเร็งนรีเวชในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวช พบว่า ความคาดหวังการบริการโดยรวมและรายด้าน 4 ด้านมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งได้แก่ด้านความเป็นรูปธรรมของบริการ ด้านความเชื่อถือไว้วางใจ ด้านการให้ความมั่นใจ และด้านความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ สำหรับการรับรู้การได้รับการบริการพยาบาลในกลุ่มสตรีที่มาใช้บริการทั่วไปและกลุ่มมะเร็งนรีเวชในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกนรีเวช พบว่า การรับรู้การได้รับการบริการพยาบาล 3 ด้านมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ด้านความเป็นรูปธรรมของบริการ ด้านการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ และด้านการให้ความมั่นใจ ผลการวิจัยสามารถนำไปปรับปรุงการบริการพยาบาลให้มีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจแก่ผู้รับบริการมากยิ่งขึ้น

 

Downloads