ผลของการใช้กระบวนการจัดการความรู้ ต่อผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด

ผู้แต่ง

  • เพ็ญศรี รักษ์วงค์
  • ปุณณ์พิกา สมดี
  • กรแก้ว สุขวานิชย์เจริญ

คำสำคัญ:

การจัดการความรู้ ผู้ป่วยมะเร็ง ยาเคมีบำบัด

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action  research) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดผ่านกระบวนการจัดการความรู้ และ 2) เพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติทางการพยาบาลต่อผลลัพธ์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ดำเนินการศึกษาในกลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ระหว่างเดือน พฤษภาคม 2552 - กรกฎาคม 2556 ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย พยาบาลผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด จำนวน 6 คน พยาบาลวิชาชีพในกลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง  จำนวน  24 คน และผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 49 คน  เก็บข้อมูลด้วยการสนทนาตามธรรมชาติ แบบบันทึกกิจกรรมการจัดการความรู้ การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม แบบสอบถามรวมทั้งการวิเคราะห์เอกสาร วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า จากการดำเนินกิจกรรมโดยใช้แนวคิดการจัดการความรู้ส่งผลให้ได้แนวปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เมื่อนําแนวปฏิบัติไปใช้ปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย  พบว่า พยาบาลสามารถปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการพยาบาลในภาพรวมร้อยละ  98.0 - 100.0  โดยหัวข้อการดูแลผู้ป่วยก่อนได้รับยาเคมีบำบัด การดูแลอาการผู้ป่วยระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด และการเฝ้าระวังอาการข้างเคียง/ อาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับยาเคมีบำบัดปฏิบัติได้มากถึงร้อยละ 100 และรองลงมา  คือ  การเตรียมจำหน่ายผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน  ร้อยละ  98.0  พยาบาลวิชาชีพส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการนําแนวปฏิบัติการพยาบาลไปใช้อยู่ในระดับมากทุกข้อรายการ  โดยข้อที่เห็นด้วยมากที่สุดมี 2 หัวข้อ คือ มีประโยชน์ต่อหน่วยงาน (ร้อยละ 91.7) และเห็นด้วยกับการใช้แนวปฏิบัติ (ร้อยละ 91.7) รองลงมา  คือ  สามารถนำไปปฏิบัติได้  (ร้อยละ 83.3) สำหรับผลลัพธ์การดูแลพบว่า ไม่เกิดทั้งความผิดพลาดทางยาเคมีบำบัด(ระดับ GHI) การเกิดยาเคมีบำบัดรั่วออกนอกเส้น และการเกิดภาวะปฏิกิริยาภูมิไวเกิน ส่วนความคลาดเคลื่อนในการเฝ้าระวังและรายงานความผิดปกติ/ ผลข้างเคียง/ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด(เกรด 3-5) พบร้อยละ 2.0 - 4.1 ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการจัดการความรู้ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม มีผลในการพัฒนาความรู้ พัฒนาคน และพัฒนาการปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้

Downloads