ผลการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอดในเครือข่ายงานอนามัยแม่และเด็กจังหวัดศรีสะเกษ

ผู้แต่ง

  • กรรณิการ์ ทุ่นศิริ

คำสำคัญ:

การตกเลือดหลังคลอด, การปฏิบัติการพยาบาล, การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงพัฒนา (Developmental research) นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอด ในเครือข่ายงานอนามัยแม่และเด็กจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นการศึกษาแบบวัดก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-posttest group design) กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลเครือข่ายงานอนามัยแม่และเด็กที่อบรมเชิงปฏิบัติการที่ห้องคลอดโรงพยาบาลศรีสะเกษจำนวน 30 คน ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงเดือนสิงหาคม 2556  โดยจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม การบรรยายด้วยสื่อการสอนคอมพิวเตอร์ การสาธิตเรื่องการทำคลอดปกติร่วมกับการอภิปรายกลุ่มย่อยกรณีศึกษา และให้คู่มือการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอด เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความรู้เรื่องการตกเลือดหลังคลอดทดสอบค่าความเที่ยงด้วยสูตร คูเดอริชาร์ดสันเท่ากับ .70  แบบสอบถามการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอด ทดสอบความเที่ยงของแบบสอบถามโดยสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาชได้เท่ากับ 0.91 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยสถิติพรรณา และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างโดยการทดสอบที (t-test)

ผลการวิจัย พบว่าค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เรื่องการตกเลือดหลังคลอดหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=6.31, P<0.001) และค่าเฉลี่ยคะแนนการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอดก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน

งานอนามัยแม่และเด็กจังหวัดศรีสะเกษควรติดตามประเมินผลความรู้ของบุคลากรพยาบาลและผลการปฏิบัติการพยาบาลเพื่อป้องกันการตกเลือดหลังคลอดในเครือข่ายของจังหวัดอย่างต่อเนื่อง

 

Downloads