ประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่ใช้เครื่องช่วยหายใจในหออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลตติยภูมิ

ผู้แต่ง

  • พิมพ์ใจ หัดประกอบ
  • ปัทมา สุริต

คำสำคัญ:

ประสบการณ์ของผู้ป่วยสูงอายุ การใช้เครื่องช่วยหายใจ หออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่ใช้เครื่องช่วยหายใจในหออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลตติยภูมิ โดยใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา ผู้ให้ข้อมูล คือ ผู้สูงอายุจำนวน 9 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและแบบไม่มีส่วนร่วม และแฟ้มประวัติผู้ป่วย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่าในระยะเริ่มแรกที่พบว่ามีท่อช่วยหายใจผู้สูงอายุมีความรู้สึก 2  ลักษณะ คือ 1) ตกใจกับท่อช่วยหายใจและสายอุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจากขณะใส่ท่อช่วยหายใจผู้สูงอายุไม่รู้สึกตัวจากการได้รับยาระงับความรู้สึก และไม่ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการใส่ท่อช่วยหายใจ และ 2) ไม่ตกใจคิดว่าเป็นการรักษา เนื่องจากขณะใส่ท่อช่วยหายใจผู้สูงอายุรู้สึกตัวดีและได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใส่ท่อช่วยหายใจ ส่วนในระยะที่ใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ ผู้สูงอายุมีความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบ ความรู้สึกด้านบวก คือ 1) ทำให้หายใจได้ดีเหมือนกับการหายใจธรรมดา 2) ทำให้ไม่เหนื่อยและพักผ่อนได้ และ 3) หายใจได้ดีกว่าการหายใจปกติ ส่วนความรู้สึกด้านลบ คือ 1) ความรำคาญหรือระคายเคืองจากท่อช่วยหายใจ 2) ความเจ็บปวดจากการดูดเสมหะ 3) ความไม่เป็นอิสระจากการผูกยึด 4) อึดอัดและหงุดหงิดจากการสื่อสารไม่เข้าใจ 5) ความกระหายน้ำ และ 6) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของครอบครัว สำหรับการจัดการกับความรู้สึกด้านลบผู้สูงอายุใช้ 3 วิธี คือ1) ให้อดทนเพื่อตนเอง 2) ให้อดทนเพื่อลูกหลาน และ3) ให้ยึดหลักพระพุทธศาสนา ในระยะหย่าจากเครื่องช่วยหายใจผู้สูงอายุมีความรู้สึก 2 ลักษณะ คือ 1) ดีใจ ไม่กลัว คิดว่าตนเองพร้อม และ 2) ดีใจ แต่ก็ยังกลัวว่าจะหายใจไม่เพียงพอ และหลังจากถอดท่อช่วยหายใจผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าหายใจโล่งทันที แต่หลังจากนั้นเริ่มพบอาการผิดปกติ เช่น เจ็บคอ กลืนลำบาก ไอมาก มีแผลมุมปาก และเสียงแหบ ส่วนเหตุผลของการใช้เครื่องช่วยหายใจในมุมมองของผู้สูงอายุ คือ 1) ต้องได้รับการผ่าตัด และ 2) การหายใจ/การเต้นของหัวใจผิดปกติ สำหรับการให้ความหมายของเครื่องช่วยหายใจตามการรับรู้ของผู้สูงอายุมีดังนี้ 1) เป็นเครื่องแก้อาการเหนื่อย ทำให้หายใจเป็นปกติ 2) เป็นเครื่องช่วยให้การหายใจดีขึ้น/สะดวกขึ้น และ 3) เป็นเครื่องช่วยต่อชีวิต ทำให้รอดพ้นจากความตาย สำหรับการดูแลที่ผู้สูงอายุได้รับที่ทำให้เกิดความสุขสบายและความอบอุ่นใจ คือ 1) การดูแลเอาใจใส่/การเฝ้าระวัง 2) การให้ยาบรรเทาความเจ็บปวด 3) การจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี และ 4) การให้น้ำบรรเทาความกระหาย ส่วนความต้องการการดูแลในขณะที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คือ 1) อยากให้ญาติอยู่เฝ้า 2) อยากให้ดูดเสมหะเบาๆ 3) ต้องการน้ำแก้กระหาย 4) ไม่ทำอะไรรุนแรงกับผู้ป่วย 5) ช่วยเหลือเรื่องการสื่อสาร และ 6) พยาบาลควรจะปรับปรุงเรื่องการพูดคุย