ความสัมพันธ์และความสามารถในการทำนายผลสัมฤทธิ์วิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ในนักศึกษาพยาบาล โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คำสำคัญ:
นักศึกษาพยาบาล ความสัมพันธ์และการทำนายผล สัมฤทธิ์การพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของนักศึกษาจากการจัดการเรียนการสอนโดยศึกษาจาก (1) ความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ของวิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ 1, 2 และ3 และ (2) ความสามารถในการทำนายผลสัมฤทธิ์ของวิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ ในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 ถึง 4 ซึ่งเป็นนักศึกษากลุ่มเดียวกันที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการพยาบาลมารดา-ทารก และการผดุงครรภ์ ของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล จำนวน 168 คน เครื่องมือการวิจัยเป็นแบบทดสอบวิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ 1 2 และ 3 ชนิด 4 ตัวเลือก มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.53 - 0.73 ค่าความยากง่ายเท่ากับ 0.53 – 0.67 และค่าอำนาจจำแนกเท่ากับ 0.18 – 0.58
ผลการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนวิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ 1 2 และ 3 มีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 นอกจากนี้คะแนนสอบวิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ 1 และ 2 ยังสามารถทำนายผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนวิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ 3 ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 เช่นเดียวกันด้วยค่า b = .39 และ .28 ตามลำดับ ส่วนระบบการรับนักศึกษาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำนายผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนวิชาการพยาบาลมารดา-ทารกและการผดุงครรภ์ 3 ได้ แสดงให้เห็นว่าการจัดการเรียนการสอนทั้ง 3 วิชาของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มีลำดับเนื้อหาสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ผลสัมฤทธิ์ของวิชาที่มีเนื้อหาพื้นฐานยังสามารถทำนายผลสัมฤทธิ์ของวิชาที่มีเนื้อหาซับซ้อนได้ ซึ่งแสดงว่าการจัดการเรียนการสอนของวิชานี้มีการจัดเนื้อหาที่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ของการเรียนทั้ง 3 วิชายังอยู่ในระดับปานกลาง จึงมีความจำเป็นที่อาจารย์ผู้สอนควรใช้เทคนิคการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการและเชื่อมโยงเนื้อหาของแต่ละวิชาเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดพัฒนาการเรียนรู้และได้รับผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น