ผลของโปรแกรมสื่อประสมการเรียนรู้ต่อความรู้ การรับ รู้ความเชื่อทางด้านสุขภาพ และพฤติกรรมการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อของผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มารับบริการที่ตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลพระอาจารย์ฟั่นอาจาโร
คำสำคัญ:
วัณโรคปอด ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ วัณโรคบทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความรู้ การรับรู้ความเชื่อทางด้านสุขภาพและเปรียบเทียบคะแนนพฤติกรรมในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อก่อนการสอนและหลังการสอนด้วยสื่อประสม ประชากรที่ศึกษาคือ ผู้ป่วยวัณโรคปอดที่มารับการรักษาที่ตึกสงฆ์อาพาธ ปี 2554-2555 จำนวน 30 คน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด เป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ได้รับการวินิจฉัยจากการตรวจพบเสมหะโดยการย้อมสีทนกรดให้ผลบวก หรือจากการตรวจภาพถ่ายทรวงอกทางรังสี สามารถสื่อสารกันเข้าใจ สติสัมปชัญญะครบถ้วน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง 2) แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับวัณโรคปอด ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรม 3) แบบสอบถามการรับรู้ของผู้ป่วยวัณโรคปอดซึ่งดัดแปลงมาจากความเชื่อทางด้านสุขภาพตามแนวคิดของเบคเกอร์ 4) แบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคปอด ประกอบด้วยการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การรับประทานยา การจัดการอุปกรณ์และสิ่งปนเปื้อน ทดสอบคุณภาพสอบสอบถาม ความตรงของเนื้อหา มีค่าเท่ากับ .98 ความรู้ ค่าความเที่ยงโดยใช้สูตรคูเดอร์ริชาร์ดสัน ได้ค่าเท่ากับ 0.75 การรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค 0.78 และ0.70 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบ Wilcox on Signed Ranks Test
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 46.2 ปี เป็นเพศชายร้อยละ 77 1) คะแนนเฉลี่ยความรู้ของผู้ป่วยวัณโรคปอดหลังการสอน (ค่าเฉลี่ย 9.9 SD=2.21)สูงกว่า ก่อนการสอน (ค่าเฉลี่ย 5.3 SD =1.38) ( p<0.01) 2) คะแนนเฉลี่ยการรับรู้ของผู้ป่วยวัณโรคปอดหลังการสอน (ค่าเฉลี่ย 29.23 SD=1.38) สูงกว่าก่อนการสอน (21.56 SD =4.48)( p<0.01) 3) คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อหลังการสอน (ค่าเฉลี่ย 15.16 SD=.97) สูงกว่าก่อนการให้ความรู้ (ค่าเฉลี่ย 10 SD=2.91) (p<0.01)