การพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลการเฝ้าระวังอาการนำก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ ในกลุ่มงานศัลยกรรมอุบัติเหตุ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • ฐิตาภา นามเกาะ
  • ศิริพร ชิตสูงเนิน
  • น้ำค้าง บุญคง

คำสำคัญ:

clinical nursing practice guideline, warning sign assessment, traumatic patients, preventable death

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลการเฝ้าระวังอาการนำก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ เป็นการวิจัยและพัฒนาโดยใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้ประกอบด้วยผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ 125 คน และพยาบาลวิชาชีพ 40 คน เก็บข้อมูลด้วยแบบเฝ้าระวังอาการนำก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บและแบบประเมินความพึงพอใจ ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 ถึง กันยายน 2555 ที่กลุ่มงานศัลยกรรมอุบัติเหตุ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ผลการศึกษาพบว่า ในกระบวนการวิจัยได้เกิดการพัฒนาแนวปฏิบัติการพยาบาลการเฝ้าระวังอาการนำก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ครอบคลุมกระบวนการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การรายงานแพทย์ และการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บในระยะวิกฤติ สำหรับผลของการนำแนวปฏิบัติทางการพยาบาลไปใช้พบว่า อัตราการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ลดลงจากร้อยละ 38.09 มาเป็นร้อยละ 8.17 ส่วนการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติและความเป็นไปได้ของแนวปฏิบัติพบ ร้อยละ 97.92 และ ร้อยละ 52.50 ตามลำดับ

โดยสรุปแนวปฏิบัติการพยาบาลการเฝ้าระวังอาการนำก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตของผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บมีประสิทธิภาพในการช่วยลดการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้จึงควรนำแนวปฏิบัตินี้มาใช้ในการพยาบาลประจำวันสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บ

Downloads