การพัฒนารูปแบบการสร้างความตระหนักในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระดับบุคคลและครอบครัว

ผู้แต่ง

  • พรหมินทร์ เมธากาญจนศักดิ์
  • นงลักษณ์ เมธากาญจนศักดิ์

คำสำคัญ:

self-awareness, regular exercise

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างความตระหนักในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระดับครอบครัวและบุคคล มีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ประเมินสถานการณ์ ระยะที่ 2 ระยะปฏิบัติการและระยะที่ 3 การประเมินผล

โดยระยะประเมินสถานการณ์ เป็นการศึกษาข้อมูลขั้นพื้นฐานและปัจจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการออกกำลังกายโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม พบว่าปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลต่อการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอคือ 1) ไม่มีเวลา 2) ความขี้เกียจ  3) ไม่มีแรงจูงใจมากพอหรือไม่ตระหนักในสุขภาพตนเอง 4) มีความเชื่อว่าการทำงานบ้านคือการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง และ 5) ไม่สนุกหรือไม่รู้สึกว่ามีความสุขในการออกกำลังกาย    ส่วนปัจจัยภายนอกตัวบุคคลประกอบด้วย  ขาดปัจจัยสนับสนุน และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

ระยะปฏิบัติการ ใช้ข้อมูลจากขั้นตอนการประเมินสถานการณ์มาพัฒนาแบบรูปแบบการสร้างความตระหนักในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในระดับครอบครัวและบุคคล โดยออกแบบร่วมกันระหว่างผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมการวิจัยได้จากการประชาสัมพันธ์และรับสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 คน      กิจกรรมเน้นการผสมผสานแนวคิดการการสร้างความตระหนักโดยการเข้าใจสุขภาพตนเอง การมีความรู้และทักษะที่เหมาะสม การสนับสนุนความรู้และทักษะที่ต่อเนื่อง  การมีความสุขในการออกกำลังกายและการมีพันธะสัญญาทางสุขภาพโดยเชื่อว่าคนในครอบครัวน่าจะเป็นคู่หูสุขภาพที่เหมาะสมที่สุด

ระยะประเมินผล หลังการดำเนินกิจกรรมเป็นเวลา 3 เดือนพบว่า

  1. ค่าเฉลี่ยความตระหนักในการออกกำลังกายก่อนการทดลองมี เท่ากับ 50.28 และภายหลังการทดลองมีค่า เท่ากับ 88.46  ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  2. ค่าเฉลี่ยการปฏิบัติตัวในการออกกำลังกาย ด้านความถี่ต่อสัปดาห์ก่อนการทดลองมีค่าเท่ากับ 1.48 และภายหลังการทดลองมีค่า เท่ากับ 3.98  ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  3. ค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการออกกำลังกายก่อนการทดลองมีค่าเท่ากับ 9.80 และภายหลังการทดลองมีค่า เท่ากับ 35.50 ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  4. ค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัว ก่อนการทดลองกลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวเท่ากับ 65.98 และภายหลังการทดลองมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 62.48 และซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
  5. เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย ก่อนการทดลองมีค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย เท่ากับ 27.09 และภายหลังการทดลองมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 25.84 ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ความสำเร็จเกิดจากกระบวนการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมครั้งนี้เกิดจากการที่บุคคลมีส่วนร่วมออกแบบรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับบุคคลและครอบครัว   และทำให้เกิดความตระหนักในการปรับพฤติกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

Downloads