ประสิทธิภาพสื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอด ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี

ผู้แต่ง

  • วิยะดา เปาวนา

คำสำคัญ:

ประสิทธิภาพสื่อวีดิทัศน์ การสวนล้างช่องคลอด

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพสื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอดในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3 และศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาต่อสื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอด กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาใช้วิธีการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3  รุ่น 18   ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 3  ในภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2554  วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย  สื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอด แบบวัดการปฏิบัติการสวนล้างช่องคลอดของนักศึกษา ในแบบวัดนี้ประกอบด้วย การวัดวิธีการปฏิบัติ (process) และการวัดผลงานที่ได้จากการปฏิบัติ (product) และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษาต่อสื่อวีดิทัศน์   โดยเครื่องมือทั้งหมดนี้ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นเอง   แบบสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษาต่อสื่อวีดิทัศน์ ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’s Alpha Coefficient) เท่ากับ .83  สื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอดและแบบวัดการปฏิบัติการสวนล้างช่องคลอด ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา โดยหาค่าดัชนีความสอดคล้อง (index of congruence) มีค่าอยู่ระหว่าง .67-1.00    เก็บรวบรวมข้อมูลโดยพยาบาลวิชาชีพประจำหอผู้ป่วยนรีเวชที่ได้รับคำชี้แจงรายละเอียดของแบบวัดจากผู้วิจัย       เก็บข้อมูลครั้งแรกจากสถานการณ์จำลอง (E1) โดยกลุ่มตัวอย่างปฏิบัติการสวนล้างช่องคลอดกับหุ่นจำลองบนหอผู้ป่วย ก่อนที่กลุ่มตัวอย่างจะขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยนรีเวช 1 วัน โดยใช้แบบวัดการปฏิบัติเฉพาะการวัดวิธีการปฏิบัติ (process) และครั้งที่สองจากสถานการณ์จริง (E2) โดยกลุ่มตัวอย่างปฏิบัติการสวนล้างช่องคลอดกับผู้ป่วย  ในระหว่างการขึ้นฝึกปฏิบัติบนหอผู้ป่วยนรีเวช โดยใช้แบบวัดการปฏิบัติทั้งการวัดวิธีการปฏิบัติ (process) และการวัดผลงานที่ได้จากการปฏิบัติ(product)  วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาประสิทธิภาพของสื่อวีดิทัศน์ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ E1/E2 ของชัยยงค์  พรหมวงศ์ (2520)[j1] และวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักศึกษาต่อสื่อวีดิทัศน์โดยการหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัย พบว่า ประสิทธิภาพสื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอด  กลุ่มตัวอย่างที่ทดลองใช้สื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอด  สามารถปฏิบัติการสวนล้างช่องคลอดจากสถานการณ์จำลอง (E1)  ได้ค่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ย E1 เท่ากับ 86.77 ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมาย E1 = 80  ที่ได้กำหนดไว้ และสามารถปฏิบัติการสวนล้างช่องคลอดจากสถานการณ์จริง (E2) ได้ค่าร้อยละของคะแนนเฉลี่ย E2 เท่ากับ  94.31  ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมาย E2 = 80  ที่ได้กำหนดไว้         ดังนั้นจึงแสดงว่าสื่อวีดิทัศน์เรื่องการสวนล้างช่องคลอด มีค่าประสิทธิภาพ E1/E2 เท่ากับ 86.77/94.31  และความพึงพอใจของนักศึกษาต่อสื่อวีดิทัศน์ อยู่ในระดับมาก (=4.41, S.D. = .56)

Downloads