ผลของโปรแกรมเสริมสร้างการเรียนรู้ต่อความรู้และทัศนคติของทีมสุขภาพและทีมสนับสนุนในการบริหารระบบความเสี่ยง โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

ผู้แต่ง

  • ผ่องพรรณ จันธนสมบัติ
  • นันธิดา พันธุศาสตร์
  • วลัยพร นันท์ศุภวัฒน์

คำสำคัญ:

โปรแกรมเสริมสร้างการเรียนรู้ การบริหารความเสี่ยง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้    เป็นการศึกษาก่อนการทดลอง  (Pre – experimental   design)  แบบ  One  group  pretest - posttest  design   เพื่อเปรียบเทียบความรู้ และทัศนคติของทีมสุขภาพและทีมสนับสนุนในการบริหารความเสี่ยง ก่อนและหลังหลังเข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างการเรียนรู้ กลุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บริหารและกลุ่มผู้ปฏิบัติ  กลุ่มผู้บริหารประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าหน่วยงานที่เป็นแพทย์ พยาบาล 50 คน กลุ่มผู้ปฏิบัติประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานทางคลินิก 100 คน และผู้ปฏิบัติฝ่ายสนับสนุน 50 คน ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือน มกราคม 2555 ถึง พฤศจิกายน 2555 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย (1) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ได้แก่ 1) แบบรวบรวมข้อมูลทั่วไป   2) แบบสอบถามความรู้ในการบริหารความเสี่ยงทางคลินิก 3) แบบสอบถามทัศนคติในการบริหารความเสี่ยงทางคลินิก    (2) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง  คือ โปรแกรมเสริมสร้างการเรียนรู้ในการบริหารความเสี่ยงทางคลินิก สร้างจากแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้ของฮัลล์ ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลและเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในงานพัฒนาคุณภาพบริการด้านสุขภาพ และการบริหารงานการพยาบาล จำนวน   6  ท่าน แบบสอบถามความรู้   การหาความเที่ยงของเครื่องมือโดยหาค่าความสอดคล้องภายในโดยใช้ คูเดอร์ริชารด์สัน 20  (Kuder-Richardson 20 : KR-20)  ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.98  แบบสอบถามทัศนคติในการบริหารความเสี่ยง    หาความเที่ยงของเครื่องมือ     นำมาหาค่าความสอดคล้องภายในโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’ s alpha  coefficient)  ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.85

วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป  SPSS   (Statistical  package  for  social  sciences)  ข้อมูลทั่วไปกลุ่มตัวอย่างใช้สถิติเชิงบรรยาย โดยหาความถี่  ร้อยละ  ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน คะแนนความรู้   คะแนนทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างในการบริหารความเสี่ยง ใช้สถิติเชิงบรรยายโดยแสดงค่าพิสัย ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบคะแนนความรู้และทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างในการบริหารความเสี่ยง ก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างการเรียนรู้โดยใช้สถิติ  Wilcoxon  signed  rank  test

ผลการศึกษา พบว่า

1. คะแนนความรู้การบริหารความเสี่ยงของกลุ่มตัวอย่าง หลังการเข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างการเรียนรู้สูงกว่าก่อนเข้าโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p < .05)

2. คะแนนทัศนคติต่อการบริหารความเสี่ยงของกลุ่มตัวอย่าง หลังการเข้าร่วมโปรแกรมเสริมสร้างการเรียนรู้สูงกว่าก่อนเข้าโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (p < .05)

Downloads