การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม

ผู้แต่ง

  • วรัทยา ราชบัญดิษฐ์

คำสำคัญ:

ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยจิตเวช

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่อำเภอปลาปาก  จังหวัดนครพนม  ผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย บุคลากรที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาลปลาปากและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 12 คน , ผู้ป่วยจิตเวชที่ควบคุมอาการได้ดีและญาติ ทั้งหมด 130 คน ดำเนินการ ตั้งแต่ ตุลาคม 2555 ถึง พฤษภาคม 2556  โดยเปิดโอกาสให้ทีมสหวิชาชีพได้มีส่วนร่วมทบทวนและแสดงความคิดเห็นในการวางแผนพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยผ่านกระบวนการสนทนากลุ่ม  การวิจัยครั้งนี้ได้ดำเนินการตามกรอบแนวคิด Chronic Care Model  มีขั้นตอน ดังนี้ 1) วิเคราะห์สถานการณ์ ทบทวนระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชร่วมกับทีมที่เกี่ยวข้อง โดยใช้กระบวนการสนทนากลุ่ม  และประเมินระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยใช้แบบประเมินการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  Assessment of Chronic Illness Care ; ACIC Version 3.5 ฉบับภาษาไทย  2) การวางแผนก่อนการวิจัย โดยเตรียมความพร้อมของทีมดูแลผู้ป่วย,การเตรียมเครื่องมือในการวิจัย ,การเตรียมผู้ป่วยและญาติ 3) การปฏิบัติการวิจัย ได้แก่ การออกแบบระบบบริการโดย จัดตั้งคลินิกจิตเวช มีทีมผู้ดูแลเฉพาะ ,อมรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ ,การทำ CPGและมีการตรวจรักษาตามแนวทางมาตรฐาน, การวางระบบยาโดยเภสัชกร, วางแนวทางการส่งต่อในผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน,ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลผู้ป่วย และสร้างเครือข่ายการดูแลต่อเนื่องในชุมชน 4)การติดตามและประเมินผล โดยทีมที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช หลังดำเนินการ 3 เดือน และ 6 เดือน  ใช้แบบประเมินการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (ACIC), การประเมินความรู้ของบุคลากร โดยใช้สถิติ  Pair T- test , ประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ หลังดำเนินการ 6 เดือน และติดตามตัวชี้วัดคุณภาพการรักษา ได้แก่ อัตราการขาดนัด , อัตราการกำเริบของโรค และจำนวนผู้ป่วยที่ถูกล่ามขัง

ผลการศึกษา พบว่า 1) มีระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ดีขึ้น โดยผลประเมินการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หลังดำเนินการ 6 เดือนมีระดับคะแนนที่ดีขึ้นจาก 1.40 เป็น 9.01(เต็ม 11) คิดเป็นร้อยละ 81.88 หมายถึง มีการสนับสนุนดีมากต่อการดูแลโรคเรื้อรัง 2) ผลการประเมินระดับความรู้ของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยจิตเวชก่อนและหลังการเข้าอบรม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 3) ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการคลินิกจิตเวช พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีค่าคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.40  4) ผลด้านคุณภาพการรักษาผู้ป่วยดีขึ้น พบว่า อัตราการขาดนัด คิดเป็น ร้อยละ 8.46 , อัตราการกำเริบของโรค คิดเป็นร้อยละ 0.77 และไม่มีผู้ป่วยถูกล่ามขังในพื้นที่  ข้อเสนอแนะ คือ จากการศึกษานี้ จำเป็นจะต้องมีการกำกับติดตามการดำเนินการและมีการประเมินระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

Downloads