การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง Development of Community-Based Learning Process in Waste Management at the Source

ผู้แต่ง

  • ดิษฐพล ใจซื่อ
  • เรณุวัฒน์ โคตรพัฒน์
  • ณฐพร คำศิริรักษ์
  • สัมฤทธิ์ ขวัญโพน
  • อาภรณ์รัตน์ เนาวะดี
  • ธรรวรา ตันติกุลวัฒนกิจ

คำสำคัญ:

กระบวนการเรียนรู้ชุมชน, การจัดการขยะ

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง พื้นที่ศึกษาเป็นชุมชนชนบทในจังหวัดมหาสารคาม ผู้ร่วมดำเนินการวิจัย จำนวน 62 คน ประกอบด้วยตัวแทนครัวเรือนในแต่ละหมู่บ้าน จำนวน 30 คน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จำนวน 32 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม การเสวนากลุ่มและการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วย ร้อยละ และค่าเฉลี่ย วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

                ผลการศึกษา 1) ด้านสถานการณ์ขยะและการจัดการขยะ พบ ขยะส่วนใหญ่เกิดจากการดำเนินชีวิตและจากการเกษตร  ส่วนใหญ่จัดการขยะโดยการกองขยะบนพื้นแล้วเผา  ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะไม่เหมาะสม  ด้านการเรียนรู้ของชุมชนในการจัดการขยะมีอย่างจำกัดและไม่ครอบคลุม และต้องการสนับสนุนการเรียนรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี 2)  ด้านกลวิธีที่ใช้ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้  มี 3 กลวิธีหลัก ได้แก่ 2.1) การเรียนรู้จากการมองเห็นปัญหาและเผชิญปัญหาร่วมกัน 2.2) การเรียนรู้จากการร่วมคิดและวางแผนแก้ไขปัญหา   และ2.3) การเรียนรู้จากการลงมือทำและประเมินผลเพื่อปรับปรุงแผน โดยแผนดำเนินการประกอบด้วย การรณรงค์  การให้ความรู้ การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การสร้างข้อตกลงและการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้  การจัดทำสื่อและคู่มือการเรียนรู้ การติดตามเยี่ยมบ้าน และการคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบ  3) ด้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  พบว่า เกิดกระบวนการเรียนรู้และการสร้างเครือข่ายแบบใหม่ในการจัดการขยะ  เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น  รวมทั้งมีการนำเสนอผลการดำเนินการสู่เวทีระดับท้องถิ่นเพื่อผลักดันเป็นนโยบายในการจัดการขยะที่เหมาะสมต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27