ปัจจัยความฉลาดทางอารมณ์ที่มีผลต่อความแข็งแกร่งในชีวิตของนิสิตพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจัยความฉลาดทางอารมณ์ที่มีผลต่อความแข็งแกร่งในชีวิตของนิสิตพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม Emotional Quotient factors Affect to the Resilience of Nursing Students, Faculty of Nursing, Mahasarakham University
คำสำคัญ:
ความแข็งแกร่งในชีวิต ความฉลาดทางอารมณ์ และนิสิตพยาบาลบทคัดย่อ
ความฉลาดทางอารมณ์และความแข็งแกร่งในชีวิตมีความสำคัญอย่างมากในความเป็นนิสิตพยาบาล การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ของนิสิตพยาบาล 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และความแข็งแกร่งในชีวิตของนิสิตพยาบาล และ 3. สร้างสมการพยากรณ์ความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์และความแข็งแกร่งในชีวิตของกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างคือประชากรทั้งหมดของนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1-4 ที่ทำการลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษา 2558 จำนวน 360 คนโดยคิดเป็นร้อยละ 94.74 ของจำนวนนิสิตทั้งหมดคือ 380 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ .96 และแบบประเมินความแข็งแกร่งในชีวิต มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ .89 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ การวิเคราะห์สถิติพื้นฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation) และวิธีการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบ (Stepwise Multiple Regression Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในระดับปกติ (x̄ = 164.57) เมื่อพิจารณาเป็นองค์ประกอบรายด้านพบว่าความฉลาดทางอารมณ์ด้านดีอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ (x̄ = 59.20) ส่วนด้านเก่ง (x̄ = 54.49) และด้านสุข (x̄ = 50.88) อยู่ในระดับปกติทุกด้าน กลุ่มตัวอย่างมีความแข็งแกร่งในชีวิตอยู่ในระดับสูง (x̄ =4.22) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับสูงทุกด้านดังนี้ด้านฉันมี (I have) (x̄=4.32) รองลงมาคือ ด้านฉันเป็นคนที่ (I am) (x̄ = 4.21) และด้านฉันสามารถที่จะ (I can) (x̄ =4.11) เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์พบว่า ความฉลาดทางอารมณ์มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับตัวแปรความแข็งแกร่งในชีวิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
โดยสรุป ตัวแปรความฉลาดทางอารมณ์ที่สามารถพยากรณ์ความแข็งแกร่งในชีวิตของนิสิตพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ สัมพันธภาพกับผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ ความพึงพอใจในชีวิต และการมีแรงจูงใจ ดังนั้นผู้บริหาร ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรพัฒนาและส่งเสริมตัวแปรเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งในชีวิตของนิสิตให้เพิ่มขึ้นต่อไป