ผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองต่อพฤติกรรม การป้องกันภาวะน้ำหนักเกินของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร The Effects of Health Promotion Program and Self-help Group on Preventive Overweight Behaviors among Village Health Volunteers in Loei Nok Tha District, Yasothon Province

ผู้แต่ง

  • จิตร มงคลมะไฟ
  • นพรัตน์ ส่งเสริม
  • เกศรา แสนศิริทวีสุข
  • วราทิพย์ แก่นการ

คำสำคัญ:

การสร้างเสริมสุขภาพ กลุ่มช่วยเหลือตนเอง ภาวะน้ำหนักเกิน อาสาสมัครสาธารณสุข

บทคัดย่อ

ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเกิดโรคเรื้อรังทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และส่งผลกระทบทั่วโลกทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ เนื่องจากพบอุบัติการณ์และแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทำหน้าที่เป็นแกนนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน การสร้างเสริมสุขภาพให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีพฤติกรรมการป้องกันภาวะน้ำหนักเกินจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การศึกษาเชิงทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองต่อพฤติกรรมการป้องกันภาวะน้ำหนักเกินของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร กลุ่มตัวอย่างคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจำนวน 100 ราย สุ่มตัวอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 50 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับการใช้กลุ่มช่วยเหลือตนเองเพื่อป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน กลุ่มควบคุมได้รับส่งเสริมสุขภาพตามปกติจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม 2560 ถึง เดือน สิงหาคม 2560 โดยใช้แบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันภาวะน้ำหนักเกินประกอบด้วยด้าน การบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการกับอารมณ์ มีค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ 0.97 ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ 0.84 ประเมินค่าดัชนีมวลกาย และเส้นรอบเอว วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ไคสแคว์ และทดสอบค่าทีที่เป็นอิสระต่อกัน

เมื่อสิ้นสุดโปรแกรมมีกลุ่มตัวอย่างคงอยู่ 95 ราย กลุ่มทดลองจำนวน 48 ราย (ร้อยละ 96.00) กลุ่มควบคุมจำนวน 47 ราย (ร้อยละ 94.00) อายุเฉลี่ย 47 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 89 อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 83 เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลพื้นฐานระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 หลังจากใช้โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับกลุ่มช่วยเหลือตนเอง กลุ่มทดลองมีพฤติกรรมการป้องกันภาวะน้ำหนักเกินด้านการออกกำลังกาย และการจัดการกับอารมณ์ เพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และมีค่าดัชนีมวลกาย และเส้นรอบเอวลดลงกว่าก่อนการทดลองและกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนพฤติกรรมด้านการบริโภคอาหารไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

                สรุปและข้อเสนอแนะ: โปรแกรมการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับกลุ่มช่วยเหลือตนเองส่งผลต่อ ดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว และพฤติกรรมการป้องกันภาวะน้ำหนักเกินในอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ส่วนการบริโภคอาหารควรมีการปรับเปลี่ยนตามบริบทของชุมชนและเน้นอาหารที่จัดหาได้ง่ายในท้องถิ่น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27