ประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อชะลอโรคไตเรื้อรังในชุมชนเมือง จังหวัดขอนแก่น The Effectiveness of Encourage Family and Village Health Volunteers Participation Program to Delayed the Progression of Chronic Kidney Disease in Urban area of Khon Kaen Province

ผู้แต่ง

  • แพรวทิพฑ์ สุธีรประเสริฐ
  • วราทิพย์ แก่นการ

คำสำคัญ:

การมีส่วนร่วม ครอบครัว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โรคไตเรื้อรัง

บทคัดย่อ

โรคไตเรื้อรัง มีความชุกและอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายระดับโลก ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนำไปสู่ภาวะเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังควรได้รับการป้องกันภาวะแทรกซ้อนและชะลอความเสื่อมของโรคไตเรื้อรัง การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเพื่อชะลอโรคไตเรื้อรังในชุมชนเมือง จังหวัดขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในระยะที่ 2-3 จำนวน 100 ราย สุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม                    กลุ่มละ 50 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ติดตามผลเป็นระยะเวลา 12 เดือน เครื่องมือเก็บรวบรวมเป็นผลลัพธ์ทางคลินิก ได้แก่ ดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว ความดันโลหิตและอัตราการกรองของไต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าไคสแควร์ และการทดสอบค่าที ชนิดสองกลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน และสองกลุ่มที่ไม่เป็นอิสระต่อกัน

   ผลการวิจัย เมื่อสิ้นสุดโปรแกรมมีกลุ่มตัวอย่างคงอยู่ 96 ราย กลุ่มทดลอง จำนวน 49 ราย คิดเป็นร้อยละ 98.0  และกลุ่มควบคุม จำนวน 47 รายคิดเป็นร้อยละ 94.0 หลังการทดลองพบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตลดลงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p < .05 (127.92/71.02, 136.32/75.20 mmHg) และค่าเฉลี่ยอัตราการกรองของไตเพิ่มขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p < .05 (57.39, 51.68 ml/min/1.73m2) ส่วนผลลัพธ์ทางคลินิกเกี่ยวกับดัชนีมวลกายและเส้นรอบเอวของกลุ่มทดลอง ภายหลังการทดลองพบว่า ค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกายและเส้นรอบเอวระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p >.05)

ข้อเสนอแนะในการนำโปรแกรมไปใช้ควรสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ป่วยและบริบทของครอบครัวเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมจากครอบครัวและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในแต่ละชุมชนเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27