ทิศทางของการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชน The developing direction for long-term care giver in community
บทคัดย่อ
ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมดประมาณ 66.2 ล้านคน เป็นประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 10.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.4 ของประชากรทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว1ทั้งนี้จากการคาดการณ์ พบว่าในปี พ.ศ. 2568 ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 19.8 ทำให้ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด การเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายต่อคุณภาพชีวิตของประชากรสูงอายุ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ เช่น การเข้าถึงบริการทางสังคม รวมถึงสุขภาพของผู้สูงอายุที่พบว่า ผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง สอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิผู้สูงอายุไทย พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้สูงอายุ รายงานว่าตนเอง มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง ผู้สูงอายุเพศหญิงมีอัตราป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง สูงกว่าเพศชาย โดยมีอัตราป่วยในช่วงผู้สูงอายุวัยต้น วัยกลาง และวัยปลาย คิดเป็น ร้อยละ 50, 60 และ 69 ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้สูงอายุมีภาวะทุพพลภาพมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรพื้นฐานได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ต้องการการดูแลระยะยาวมากที่สุด2 จากข้อมูลข้างต้น จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น อายุขัยที่ยืนยาว การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย และความเสื่อมถอยของสถมรรถภาพทางกายของผู้สูงอายุ ระบบการดูแลระยะยาวจึงได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบโดยมีการกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลในปีพ.ศ. 25583
การดูแลระยะยาว (Long term care) รวมถึงบริการที่ครอบคลุมความจำเป็นของการดูแลโรคเรื้อรัง หรือ
ภาวะพิการ ในช่วงเวลานาน การดูแลระยะยาวเกี่ยวข้องกับภาวะเรื้อรังทางการแพทย์ เช่น ภาวะข้ออักเสบ อัมพาต สมองเสื่อม การบาดเจ็บไขสันหลัง หรือ อาการเจ็บป่วยทางจิตเรื้อรัง เป็นต้น การจัดบริการระยะยาว ได้แก่ การช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน การกระตุ้นให้มีการฟื้นฟูสภาพ หรือการจัดบริการชดเชยความเป็นอิสระที่เสียไปในผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้ให้บริการแบบไม่เป็นทางการ (Informal caregiver) ได้แก่ ครอบครัว เพื่อน หรือโดยผู้ให้บริการแบบเป็นทางการ (Formal caregivers) ที่ผ่านการอบรมแบบวิชาชีพหรือบุคลากรกึ่งวิชาชีพ (Paraprofessionals)4 เป้าหมายสำคัญของการดูแลระยะยาว คือการยืดอายุของการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุให้ได้ยาวนานที่สุด การช่วยเหลือผู้ป่วยให้มากที่สุดในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมได้ในขณะนั้น อันจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถดำเนินชีวิตให้เป็นอิสระเท่าที่จะเป็นไปได้5
บทความนี้นำเสนอแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนในชุมชนภายใต้การทำงานของระบบสุขภาพอำเภอ เนื่องจากอำเภอมีโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจน มีทรัพยากร โครงสร้างการทำงานร่วมกันของอำเภอ และขนาดประชากรที่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพ อีกทั้งยังสอดคล้องกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีการประสานการทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุร่วมกัน เช่นในปี พ.ศ. 2556 มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพอส.) การอบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) ซึ่งปัจจุบันมีการขยายผลโครงการจนครอบคลุมครบทุกเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศนโยบายหมอครอบครัว (Family Care Team; FCT) และในปี พ.ศ. 2559 มีการประกาศนโยบายคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster; PCC) ที่เชื่อมโยงและมุ่งไปในทิศทางเดียวกับนโยบายหมอครอบครัว ประกอบกับการดำเนินการโครงการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงผ่านกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care; LTC) เพื่อให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และในปีพ.ศ. 2560 มีความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการดูแลทางสังคม (Social care) และการดูแลสุขภาพในอำเภอ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวทางประชารัฐ เห็นได้ว่าการพัฒนาการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมีการสนับสนุนของทุกหน่วยงานและดำเนินการในทุกอำเภอทุกแห่ง บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทย การประเมินภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ และบริการที่จัดให้กับผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่ม ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และข้อเสนอแนะทิศทางการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน อันจะทำให้ผู้สูงอายุได้รับบริการจากผู้ดูแลผู้สูงอายุที่สอดคล้องกับสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุ ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี