การป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ Prevention of Dementia in Older Persons

ผู้แต่ง

  • สุทธิศรี ตระกูลสิทธิโชค

คำสำคัญ:

ภาวะสมองเสื่อม ปัจจัยเสี่ยง การป้องกัน

บทคัดย่อ

ปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็น "สังคมผู้สูงอายุ" โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รวบรวมข้อมูลสถิติในปี พ.ศ.2560 พบว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 10,325,322 คน คิดเป็นร้อยละ 15.45 ของประชากรทั้งหมด1 และจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.2558 พบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะสมองเสื่อม ประมาณ 600,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของจำนวนผู้สูงอายุ ทั้งหมดและคาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คนในปี     พ.ศ. 2573 โดยความชุกของโรคจะพบมากขึ้นตามอายุ ซึ่งอาจพบสูงถึงร้อยละ 30 ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 85 ปี2 เนื่องจากในปัจจุบันโรคอัลไซเมอร์ยังไม่มียาเฉพาะที่ใช้ในการรักษา จึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการใช้ยาเพื่อเพิ่มระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ช่วยเพิ่มความจำให้ดีขึ้น และลดปัญหาด้านพฤติกรรมที่เกิดจากพยาธิสภาพของโรค3 เมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยจะเกิดภาวะความจำเสื่อมอย่างรุนแรง  แม้คนใกล้ชิดก็จำไม่ได้ และไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้เลย จำเป็นต้องมีผู้ดูแลกิจวัตรประจำวัน ทำให้เป็นภาระของครอบครัวและประเทศชาติ ดังนั้นการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลก

วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ให้การดูแลสุขภาพแก่ประชาชน โดยบทบาทพยาบาลครอบคลุมถึงการดูแลรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน แนวคิดการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคในผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดี ให้มีสุขภาพแข็งแรง ยืดเวลาที่จะเกิดการเจ็บป่วยหรือเกิดภาวะทุพพลภาพออกไป โดยสภาการพยาบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่บ้านมากกว่าการเข้ารับการดูแลในสถานบริการ4 ดังนั้นภารกิจในการดูแลผู้สูงอายุ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคของผู้สูงอายุจึงเป็นบทบาทที่พยาบาลไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีอิสระในการใช้ชีวิตโดยปราศจากการพึ่งพาผู้อื่น แต่เมื่อผู้สูงอายุมีอายุมากขึ้นจะพบความชุกของภาวะสมองเสื่อมมาก2 อย่างไรก็ตามยังมีผู้สูงอายุอีกมากที่ไม่เกิดภาวะสมองเสื่อม ดังนั้น การป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุจึงเป็นบทบาทที่ท้าทายสำหรับพยาบาลในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบัน บทความนี้จึงกล่าวถึง สาเหตุของภาวะสมองเสื่อม ปัจจัยเสี่ยงและบทบาทของพยาบาลในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมดังต่อไปนี้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27