รูปแบบการจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสกลนคร A Case Management Model for Acute Ischemic Stroke Patients at Emergency Department, Sakon Nakhon Hospital
คำสำคัญ:
การพัฒนารูปแบบ การจัดการดูแลผู้ป่วยรายกรณี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลันบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสกลนคร และประเมินผลภายหลังการพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การทบทวนเวชระเบียน การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสนทนากลุ่ม และแบบสอบถามความพึงพอใจ ผู้ให้ข้อมูลเลือกแบบเฉพาะเจาะจง คือ 1) กลุ่มพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน 2) กลุ่มประเมินผลรูปแบบที่พัฒนาขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างก่อนและหลังการพัฒนาโดยใช้สถิติทดสอบไคสแควร์ ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า 1) สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดสมองตีบอุดตันเฉียบพลันพบประเด็นที่เป็นโอกาสในการนำมาพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วย ดังนี้ ระบบช่องทางด่วนที่ครอบคลุมทั้งระยะก่อนผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล และระยะผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล 24 ชั่วโมงแรก แนวปฏิบัติทางการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน การมอบหมายพยาบาลผู้จัดการรายกรณีประจำห้องฉุกเฉิน และการพัฒนาสมรรถนะพยาบาล การพัฒนาเครือข่ายพยาบาลห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเครือข่าย การคัดกรองระดับความรุนแรง การปรับปรุงรูปแบบการส่งเสริมให้ประชาชนให้มีการตระหนักรู้ในอาการและอาการแสดง และการเรียกใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน 2)รูปแบบการพยาบาลจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลันห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลสกลนคร ประกอบด้วย 2.1) นโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และการวางแผนด้านกลยุทธ์ 2.2) พยาบาลผู้จัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประจำห้องฉุกเฉิน ปฏิบัติบทบาทผู้จัดการรายกรณีทางคลินิก ทั้งในระยะก่อนผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล ระยะผู้ป่วยรับไว้ดูแลในห้องฉุกเฉิน และหลังรับไว้ในโรงพยาบาล 24 ชั่วโมงแรก มีคุณสมบัติเป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำงานร่วมกับทีมสหสาวิชาชีพ และพยาบาลห้องฉุกเฉินที่มีสมรรถนะด้านการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน 6 ด้าน 2.3) แนวปฏิบัติการพยาบาลการจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน ที่เชื่อมโยงการจัดการดูแลในระยะก่อนมาถึงโรงพยาบาล ระยะผู้ป่วยรับไว้ดูแลในห้องฉุกเฉิน และหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใน 24 ชั่วโมงแรก 2.4) ทีมสหสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลสกลนครและเครือข่ายพยาบาลห้องฉุกเฉินจังหวัดสกลนคร และ 2.5)การจัดการผลลัพธ์ด้านคุณภาพการพยาบาล และคุณภาพบริการสุขภาพ และ 3) ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตันเฉียบพลัน คุณภาพการพยาบาล พบว่า ความพึงพอใจของบุคลากรสหวิชาชีพอยู่ระดับมากที่สุด (X̅ = 4.90) ความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติอยู่ในระดับมากที่สุด (X̅ = 4.93) สมรรถนะของพยาบาลวิชาชีพห้องฉุกเฉินโดยรวมสูงถึงร้อยละ 97.16 และด้านคุณภาพบริการสุขภาพ พบว่าการเรียกใช้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 จำนวนผู้ป่วยที่เข้าระบบช่องทางด่วน และผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด rtPA ผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดใน 60 นาที และอัตราการเสียชีวิตใน 24 ชั่วโมง แตกต่างจากก่อนการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( P < 0.05)