การพัฒนาแบบประเมินคัดกรองผู้ป่วยเจ็บ-แน่นหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ หน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉินโรงพยาบาลระนอง The Development of the Screening and Assessment Form for Patients with Chest or Epigastric Pain in Emergency Department at Ranong Hospital

ผู้แต่ง

  • อรอนงค์ ช่วยณรงค์
  • ดาราวรรณ รองเมือง

บทคัดย่อ

อาการเจ็บหน้าอก เจ็บร้าวไปที่คอ หลังหรือแขนเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจ    ขาดเลือด แต่ยังมีผู้ป่วยบางรายมาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากสาเหตุใด ทำให้การวินิจฉัยล่าช้า นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วย การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบประเมิน คัดกรองผู้ป่วยเจ็บ-แน่นหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ หน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลระนอง โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นเตรียมการ ขั้นปฏิบัติการ และขั้นติดตามประเมินผล กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลวิชาชีพประจำหน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน (N=17) และผู้ป่วยที่รับการรักษาอาการเจ็บ-แน่นหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ (N=71) โรงพยาบาลระนอง เครื่องมือในการวิจัย คือ แบบประเมินและคัดกรองผู้ป่วยเจ็บ-แน่นหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่   และแบบสอบถามความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Paired t-test

ผลการศึกษา พบว่า แบบประเมินคัดกรอง ฯ ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย1) การประเมินเบื้องต้น ได้แก่  การคัดกรองและจัดระดับความรุนแรง  การซักประวัติลักษณะอาการเจ็บหน้าอก PQRSTT อาการสำคัญ อาการแสดงร่วม และปัจจัยเสี่ยง 2) การดูแลการพยาบาลเบื้องต้น  3) การรายงานแพทย์และการดูแลรักษา  4) การประสานงาน และ5) การดูแลระหว่างนำส่งและการส่งต่อ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ช่วยให้พยาบาลมีการประเมินแรกรับในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก ร้อยละของผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจภายใน 10 นาที ภายหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และ มีการรายงานแพทย์ภายใน 5 นาที ทันทีที่ได้ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้น ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลจนได้รับยาละลายลิ่มเลือดลดลง ( =24.80) และพยาบาลมีความพึงพอใจต่อการใช้แบบประเมินคัดกรอง ฯ กล่าวโดยสรุป แบบประเมินคัดกรองผู้ป่วยเจ็บ-แน่นหน้าอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่มีประสิทธิภาพ และแม่นยำ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็ว และลดอันตรายในผู้ป่วยได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14