การพัฒนาระบบบริการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับยาเคมีบำบัด โรงพยาบาลหนองคาย The Development of Nursing Service System for Patients with Lymphoma receiving chemotherapy at Nongkhai Hospital

ผู้แต่ง

  • บัวแก้ว ศรีจันทร์ทอง
  • ณทชา สุวรรณศรี
  • ลิกิจ โหราฤทธิ์

คำสำคัญ:

การจัดการรายกรณีในระบบบริการพยาบาล ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือที่ได้รับยาเคมีบำบัด

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับยาเคมีบำบัด และศึกษาผลลัพธ์ของการพัฒนาระบบการบริการผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในโรงพยาบาลหนองคาย กลุ่มผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วยพยาบาลวิชาชีพ 11 คน สหสาขาวิชาชีพ 4 คน และผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด        non-hodgkin's lymphoma ที่มารักษาในโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2559 – 30 กันยายน พ.ศ.2560 จำนวน 30 ราย ดำเนินการวิจัยตามกรอบแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการของ Kemmis & Mc Taggart (4 ขั้นตอน คือ วางแผน ปฏิบัติ สังเกต และสะท้อนผล) และ Donabedian model (3 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้าง กระบวนการ และผลลัพธ์) เครื่องมือประกอบด้วย แนวทางการดูแลผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับยาเคมีบำบัดโดยผู้จัดการรายกรณี การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสังเกต สัมภาษณ์  สนทนากลุ่ม และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้สถิติพรรณนา และทดสอบที วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาโดยผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยสะท้อนคิดและสรุปประเด็นร่วมกัน

ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาระบบบริการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับยาเคมีบำบัด มีการพัฒนาด้านโครงสร้าง และด้านกระบวนการ โดยใช้การจัดการรายกรณี และการมีส่วนร่วมของสหสาขาวิชาชีพ  ประกอบด้วย การวางแผนการดูแลผู้ป่วย การประสานงาน การติดตามกำกับ และประเมินผลวิจัย พบว่า 1) คุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังการได้รับยาเคมีบำบัดมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนได้รับยาเคมีบำบัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 2) พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยหลังได้รับยาเคมีบำบัดครั้งที่สองมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 3) ความพึงพอใจต่อระบบบริการพยาบาล พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅=4.53) จากคะแนน 1-5 4) พยาบาลมีสมรรถนะด้านความรู้ ร้อยละ 90.8 ทักษะการปฏิบัติตามแนวทางการให้ยาเคมีบำบัดร้อยละ 97.7 การปฏิบัติตามระบบบริการพยาบาล ร้อยละ 96 และความคิดเห็นของพยาบาลต่อระบบบริการพยาบาลอยู่ในระดับมากที่สุดx ̅=4.59 จากคะแนนเต็ม 5 5) ผลลัพธ์ด้านคุณภาพว่าไม่พบความผิดพลาดทางยาเคมีบำบัด (ระดับ GHI) การเกิดยาเคมีบำบัดรั่วออกนอกเส้น และการเกิดภาวะปฏิกิริยาภูมิไวเกิน อัตราการกลับมารักษาซ้ำ ด้วยภาวะแทรกซ้อนร้อยละ 20  และการปฏิเสธการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

                การพัฒนาระบบ การบริการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับเคมีบำบัด โดยใช้การจัดการรายกรณี และการมีส่วนร่วมของทีมสหวิชาชีพทำให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะของพยาบาล ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ควรมีการพัฒนาสมรรถนะของพยาบาลให้เป็นผู้จัดการรายกรณีเพิ่มขึ้นและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมสหวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลในผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ดียิ่งขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14