ผลของโปรแกรมการดูแลตนเองเพื่อลดอาการปวดข้อเข่าของผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน Effects of a Self-Care to Reduce Knee Pain Program Among Elderly with Knee Osteoarthritis, Chaisatan Subdistrict, Muangnan District, Nan Province.

ผู้แต่ง

  • นฤมล ลำเจริญ
  • ชื่นจิตร โพธิศัพท์สุข
  • มุกดา หนุ่ยศรี

คำสำคัญ:

โปรแกรมการดูแลตนเองเพื่อลดอาการปวดข้อเข่า อาการปวดข้อเข่า ผู้สูงอายุ ภาวะข้อเข่าเสื่อม

บทคัดย่อ

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ อาการปวด บวม อักเสบ จากข้อเข่าเสื่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุอย่างมาก การวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลตนเองเพื่อลดอาการปวดข้อเข่าของผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60 – 75 ปี ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิระดับน้อย จากการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 21 คน และกลุ่มเปรียบเทียบ 21 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองเป็นโปรแกรมการดูแลตนเองเพื่อลดอาการปวดข้อเข่าของผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม ที่พัฒนาขึ้นโดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีความสามารถของตนเองของแบนดูรา และทฤษฎีแรงสนับสนุนทางสังคมของเฮ้าส์ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม 6 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป  แบบประเมินความรุนแรงของอาการปวดข้อเข่า การรับรู้ความสามารถในการดูแลตนเองเพื่อลดอาการปวดข้อเข่า  การรับรู้ความคาดหวังในผลลัพธ์ของการดูแลตนเอง และ พฤติกรรมการดูแลตนเองเพื่อป้องกันและลดอาการปวดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม โดยมีค่าความเที่ยงของแบบสอบถามส่วนที่ 4, 5 และ 6 เท่ากับ 0.84, 0.94  และ 0.81 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติพรรณนา การทดสอบสมมติฐาน ใช้สถิติทดสอบที  วิลคอกซัน ซายด์ แรงค์ เทสต์ และแมนวิทนีย์ ยู เทสต์

ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความสามารถในการดูแลตนเองการรับรู้ความคาดหวังในผลลัพธ์ของการดูแลตนเอง และพฤติกรรมการดูแลตนเอง หลังการทดลองใช้โปรแกรมฯ มากกว่าก่อนการทดลองใช้โปรแกรมฯ และมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  หลังการทดลองใช้โปรแกรมฯ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรุนแรงของอาการปวดข้อเข่า ความถี่และปริมาณในการใช้ยาแก้ปวด น้อยกว่าก่อนการใช้โปรแกรมฯและน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 ข้อเสนอแนะจากการวิจัยครั้งนี้ ควรมีการศึกษาในระยะยาวและมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูความต่อเนื่องและผลของการคงอยู่ของพฤติกรรมการดูแลตนเองตามโปรแกรมฯ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14