ผลของการจัดการผู้ป่วยรายกรณีในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกต่อระยะวันนอน ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล และความพึงพอใจของทีมสหสาขาวิชาชีพ Effect of Case Management for Hemorrhagic Stroke Patients on Length of Stay, Cost of Care and Provider’s Satisfaction

ผู้แต่ง

  • อุไร ดวงแก้ว
  • อภิญญา จำปามูล

คำสำคัญ:

การจัดการรายกรณี ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก ระยะวันนอนเฉลี่ย ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล ความพึงพอใจของทีมสหสาขาวิชาชีพ

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการจัดการรายกรณีในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก ต่อระยะวันนอน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และความพึงพอใจของทีมสหสาขาวิชาชีพ กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตกรายใหม่จำนวน 60 คน ที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย3จ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คนได้รับการดูแลโดยใช้การจัดการรายกรณี และกลุ่มควบคุมจำนวน 30 คน ได้รับการดูแลตามปกติ การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด และใช้วิธีการจับคู่ตัวแปร เพศ อายุ จำนวนโรคร่วม โดยคำนึงถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม พยาบาลและทีมสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก ตามแผนการดูแลรายกรณีมีจำนวน 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการดูแลรายกรณีของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก โดยผู้วิจัยร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพสร้างจากหลักฐานเชิงประจักษ์ แบบบันทึกจำนวนวันนอนและค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล แบบสอบถามความพึงพอใจของทีมสหสาขาวิชาชีพต่อการจัดการรายกรณี  ตรวจสอบความตรงของเครื่องมือวิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน และหาค่าความเที่ยงแบบสอบถามความพึงพอใจ โดยคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบราค ได้ค่าความเที่ยง  0.97 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์  SPSS version 19 นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปในรูปความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของระยะเวลานอนโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ Independent t-test

                ผลการวิจัย พบว่า 1) จำนวนวันนอนเฉลี่ยของกลุ่มทดลองที่ได้รับการดูแลโดยใช้การจัดการรายกรณี (Mean =8.07 วัน, SD=1.59) น้อยกว่าจำนวนวันนอนเฉลี่ยของกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามปกติ (Mean =9.57 วัน, SD=2.96) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2) ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเฉลี่ยของกลุ่มทดลอง (=117,359.81บาท SD=25,561.74 ) น้อยกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของกลุ่มควบคุม (=134,603.28 บาท SD=35,011.70 ) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 และ 3) ความพึงพอใจของทีมสหสาขาวิชาชีพต่อการจัดการรายกรณีโดยรวมอยู่ในระดับมาก (=4.02 SD=.56) ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย ควรมีการทบทวน ปรับปรุงแผนการดูแลรายกรณีจากหลักฐานเชิงประจักษ์ทุกปี เพื่อให้ได้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และการกำหนดวันนอนล่วงหน้าควรมีการทบทวนและปรับลดลงจากเดิม โดยคงไว้ซึ่งคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14