ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ได้รับยาต้านไวรัสและแนวทางการดูแลด้านโภชนาการ Increasing of Risk in Dylipidemia among People Living with HIV who on Antiretroviral Drug Therapy and its Potential Nutritional Care Process

ผู้แต่ง

  • อลงกต สิงห์โต

บทคัดย่อ

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านเชื้อไวรัสมักได้รับผลกระทบจากผลข้างเคียงของยาที่ก่อให้เกิดการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไขมันสะสมในร่างกายจำนวนมาก นำไปสู่ภาวะไขมันผิดรูป รวมถึงภาวะไขมันในเลือดสูง ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านเชื้อไวรัสจึงถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงมากกว่าคนทั่วไป นำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดเลือดแข็งตัว โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งบุคลากรด้านการแพทย์จึงควรมีการศึกษาถึงแนวทางการดูแลสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าว ปัจจุบัน ยังไม่มีคำแนะนำเกี่ยวกับรูปแบบการรับประทานอาหารแบบจำเพาะสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ในขณะที่ในผู้ไม่ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงมีรูปแบบและแนวทางการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์หนึ่ง ชื่อว่า Therapeutic Lifestyle Change diet ซึ่งถือเป็นวิธีการที่มีการศึกษายืนยันว่าได้ผลเป็นอย่างดีในการดูและด้านโภชนาการของผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงทั่วไป โดยต้องอาศัยความรู้และทักษะของการพูดคุยโดยแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการและนักกำหนดอาหารในการวางแผนการรับประทานอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น จากรายงานวิจัยในปัจจุบันถึงความชุกต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงในผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่ยังไม่มีรูปแบบการรับประทานอาหารจำเพาะสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงเป็นไปได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์จึงควรศึกษาหาแนวทางในการเลือกวิธีการดูแลด้านอาหารและโภชนาการที่เหมาะสมมาใช้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัสเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง โดย Therapeutic Lifestyle Change diet ถือเป็นรูปแบบและหลักการให้โภชนบำบัดทางการแพทย์รูปแบบหนึ่งที่อาจสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงเช่นเดียวกับผู้ไม่ติดเชื้อ

Author Biography

อลงกต สิงห์โต

สาขาวิชาโภชนบำบัดและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-10-14