การส่งเสริมความยึดมั่นในการฟื้นฟูสภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายใน ผู้ป่วยโรคหัวใจ : การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ Adherence Promotion of Exercise-Based Cardiac Rehabilitation among Patients with Cardiovascular Disease: A Systematic Review

ผู้แต่ง

  • ศักดา เปรมไทยสงค์
  • อัศนี วันชัย
  • วาสนา รวยสูงเนิน

คำสำคัญ:

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ การออกกำลังกาย โรคหัวใจ

บทคัดย่อ

การวิจัยแบบทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวน วิเคราะห์ และสรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทฤษฎีที่นำมาประยุกต์ใช้ รูปแบบของกิจกรรม และผลลัพธ์ของการส่งเสริมความยึดมั่นในการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ การศึกษาที่นำมาทบทวนเป็นรายงานการวิจัยเชิงทดลองที่มีกลุ่มควบคุมและมีการสุ่มตัวอย่างเข้ารับการทดลอง หรืองานวิจัยแบบกึ่งทดลองที่มีกลุ่มควบคุม โดยรายงานเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2559 ฐานข้อมูลที่ทำการสืบค้น ได้แก่ PubMed, ProQuest, Medical Library, Science Direct, Cochrane Library, ISI Web of Science ซึ่งพบรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์และผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์การคัดเข้าเพื่อทำการทบทวน จำนวน 26 เรื่อง

ผลการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของงานวิจัย พบว่า เป็นงานวิจัยที่ฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว จำนวน 16 เรื่อง ร้อยละ 61.5 และด้วยการออกกำลังกายร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ จำนวน 10 เรื่อง ร้อยละ38.5 การศึกษาส่วนใหญ่มีกลุ่มตัวอย่างไม่เกิน 30 ราย จำนวน 11 เรื่อง ร้อยละ 42.3 และมีระยะเวลาการดำเนินโปรแกรมอยู่ที่ 3-6 เดือน มากที่สุด จำนวน 11 เรื่อง ร้อยละ 42.3  ผลการศึกษา ด้านแนวคิดและทฤษฎีที่นำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมความยึดมั่น พบว่า มีการศึกษาจำนวน 19 เรื่อง ร้อยละ 73.1  ประยุกต์ใช้แนวคิด/ทฤษฎีในการส่งเสริม  ประกอบด้วย แบบที่ใช้ทฤษฎีเดียว จำนวน 11 เรื่อง ร้อยละ 42.3 และใช้สองแนวคิดทฤษฎีขึ้นไป จำนวน 8 เรื่อง ร้อยละ 30.8  และแบบที่ไม่ใช้หรือไม่ระบุแนวคิดทฤษฎีที่ใช้ จำนวน 7 เรื่อง ร้อยละ 26.9    โดยการศึกษาที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีเดียว พบว่า  มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมการศึกษามีความยึดมั่นในโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น ร้อยละ 81.8  ส่วนการศึกษาที่ใช้มากกว่าสองแนวคิดทฤษฎี พบว่า มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความยึดมั่นในโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นถึง ร้อยละ100 ส่วนผลการศึกษาด้านรูปแบบของกิจกรรม พบว่า ส่วนใหญ่ดำเนินกิจกรรมโดยทีมสหวิชาชีพ จำนวน 12 เรื่อง ร้อยละ 46.2  เป็นการจัดกิจกรรมแบบผสมผสานระหว่างการสอน การให้คำปรึกษา การให้แรงสนับสนุนทางด้านจิตสังคมและการฝึกออกกำลังกาย จำนวน 17 เรื่อง ร้อยละ 63.6  แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุชนิด ความถี่ ความแรง และระยะเวลาของการออกกำลังกายในการฟื้นฟูฯ สำหรับผลการศึกษาด้านผลลัพธ์หลักของการส่งเสริมความยึดมั่นในการฟื้นฟูฯ ประเมินจากความถี่ของการออกกำลังกาย จำนวน 14 เรื่อง ร้อยละ 53.9  ระยะเวลาของการออกกำลังกาย จำนวน 10 เรื่อง ร้อยละ38.5 และจำนวนผู้ป่วยที่คงอยู่จนสิ้นสุดโปรแกรม จำนวน 9 เรื่อง ร้อยละ 34.6

ผลการศึกษาสรุปได้ว่าการวิจัยเพื่อส่งเสริมความยึดมั่นในการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจส่วนใหญ่ยังมีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก (ไม่เกิน 30 ราย) และระยะเวลาดำเนินกิจกรรมระยะสั้น (3-6 เดือน) โดยยังมีรูปแบบที่แตกต่างกันทั้งในด้านการนำแนวคิดทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ รูปแบบของกิจกรรม และผลลัพธ์ที่ใช้ประเมินความยึดมั่นในการฟื้นฟู ซึ่งผลจากการศึกษาสนับสนุนความสำคัญของการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีร่วมกันมากกว่าหนึ่งแนวคิด และการจัดกิจกรรมฟื้นฟูที่ผสมผสานทั้งการสอน การให้คำปรึกษา และการให้แรงสนับสนุนทางสังคม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-11