การปรับตัวของครอบครัวที่มีสมาชิกเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย Adaptation of Family with Advanced Cancer Person
คำสำคัญ:
มะเร็งระยะสุดท้าย ความเครียด สะสมปัญหา การปรับตัวของครอบครัว ภาวะวิกฤตบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะกรณี เพื่อศึกษาการปรับตัวของครอบครัวที่มีสมาชิกเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลหลักหรือสมาชิกที่ให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายในโรงพยาบาล จำนวน 10 ครอบครัว เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์การปรับตัวของครอบครัวตามกรอบแนวคิดทฤษฎีการคืนสภาพครอบครัวร่วมกับการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่าครอบครัวที่มีสมาชิกเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายมีพฤติกรรมการปรับตัว 5 ลักษณะ คือ 1) เตรียมตัวและพร้อมก้าวไป จำนวน 2 ครอบครัว ครอบครัวที่ผู้ป่วยและครอบครัวรับรู้และยอมรับ ผู้ป่วยและครอบครัวมีการเตรียมและวางแผนเมื่อมีชีวิต 2) เตรียมตัวแบบลังเลและต่อรอง จำนวน 3 ครอบครัว ครอบครัวที่รับรู้แต่อยู่ระยะต่อรอง ครอบครัวไม่ได้วางแผนชีวิตตนเองเมื่อดูแลผู้ป่วย และพบว่าเจ็บป่วยในระยะเวลาไม่นาน 3) เตรียมตัวคู่กับท้อแท้ จำนวน 2 ครอบครัว ครอบครัวที่รับรู้และยอมรับ วางแผนสำหรับการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวขณะมีชีวิตและใกล้ตาย แต่ครอบครัวมีการสะสมปัญหา เช่น หนี้สินสะสม ไม่ขอความช่วยเหลือ ดูแลคนเดียว แสดงออกโดยการร้องไห้และบอกท้อแท้ 4) มองคนละมุม วางแผนแต่ยังไม่พร้อม จำนวน 1 ครอบครัว ครอบครัวที่มีความเห็นแตกต่างในแผนการรักษาและพยุงชีพ ทั้งขอลองรักษา สู้เต็มที่และประคับประคอง ขอสุขสบาย และเตรียมตัวสำหรับความตายแต่ปฏิเสธปัญหา ไม่อยากเจอผู้ป่วย และ 5) ไม่ยอม ไม่พร้อมรับมือ ขอยื้อจนที่สุด จำนวน 2 ครอบครัว ครอบครัวที่ผู้ป่วยมีอำนาจตัดสินใจในครอบครัว อยู่ในระยะปฏิเสธ ขอยื้อจนที่สุด มีภาระกิจที่ค้างคาและครอบครัวมีความเปราะบางเดิม เช่น ทะเลาะกัน หนี้สิน เป็นต้น จากการวิจัยยังพบปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้และการให้ความหมายของครอบครัวและทำให้ครอบครัวปรับตัวได้ยากขึ้น คือ ระยะเวลาการเจ็บป่วย บทบาทความสำคัญของผู้ป่วยในครอบครัว ผลการวิจัยนี้สนับสนุนแนวคิดทฤษฎีคืนสภาพครอบครัว