ผลของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียน โดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อความเครียดของมารดา Effect of Family Centered Care Program for Preschool Critically Ill Children on Maternal Stress

ผู้แต่ง

  • อัจฉรา วริลุน
  • นิลาวรรณ ฉันทะปรีดา

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียน การดูแลโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง โปรแกรมการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียน

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียนโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลางต่อความเครียดของมารดา กลุ่มตัวอย่าง คือ มารดาผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียน เลือกสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบ จำนวน 30 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 15 ราย กลุ่มทดลอง  15 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียนโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี  2 ชุด ได้แก่  1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ประกอบด้วย โปรแกรมการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียนโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง  2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลมารดาและผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียน และแบบประเมินคะแนนความเครียดของมารดาผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียน ดัดแปลงมาจาก (The Parental Stress Scale: Pediatric Intensive Care Unit, PSS: PICU) แปลจากต้นฉบับของคาร์และไมล์ (Carter & Miles, 1982) มีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 0.95 และค่าสัมประสิทธิ์ของอัลฟาคอนบาคเท่ากับ 0.86  วิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ chi-square สถิติ Paired t-test และสถิติ Independent t-test 

ผลการวิจัย พบว่า   

1) มารดากลุ่มทดลองมีค่าคะแนนความเครียดภายหลังการทดลองน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

2) มารดากลุ่มทดลองมีค่าคะแนนความเครียดภายหลังการทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การเข้าร่วมโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียนโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ส่งผลให้มารดามีความเครียดน้อยลง ดังนั้นจึงควรให้มีการใช้แนวคิดการดูแลผู้ป่วยโดยยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการดูแลผู้ป่วยเด็กวิกฤตวัยก่อนเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-11