การวิเคราะห์กลวิธีพัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกยาสูบ ในการป้องกันพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช Identifying Strategy to Strengthen Tobacco Farmers’ Abilities to Prevent Pesticide Toxicity
คำสำคัญ:
การวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม กลวิธีพัฒนาศักยภาพ การป้องกันพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรปลูกยาสูบ, Participatory rural appraisal, Identifying strategy, Prevent pesticide toxicity, Tobacco farmersบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงคุณภาพนี้ ใช้กระบวนการวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรปลูกยาสูบในชุมชน และวิเคราะห์กลวิธีพัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกยาสูบ ในการป้องกันพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยผู้วิจัยเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดเวทีให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิเคราะห์ และค้นหาแนวทางในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกยาสูบในการป้องกันพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ผลการวิจัยพบว่า สถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ของเกษตรกรปลูกยาสูบในชุมชนที่ศึกษา ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยพบว่า เกษตรกรปลูกยาสูบส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของการหารายได้ มากกว่าการดูแลสุขภาพของตนเอง เกษตรกรปลูกยาสูบส่วนมากมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มข้น ผสมกันหลายชนิด มีบางส่วนใช้เครื่องฉีดพ่นที่เก่า ขาดการตรวจสอบก่อนนำไปใช้ เกษตรกรปลูกยาสูบส่วนมากไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันพิษที่เหมาะสมในขณะฉีดพ่นสารเคมี เกษตรกรปลูกยาสูบบางส่วนดื่มน้ำและสูบบุหรี่ในขณะฉีดพ่นสารเคมี เกษตรกรปลูกยาสูบบางส่วนจัดเก็บอุปกรณ์หรือกำจัดภาชนะปนเปื้อนสารเคมีไม่เหมาะสม ผลจากการวิเคราะห์กลวิธีพัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกยาสูบร่วมกัน ชุมชนจึงมีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกยาสูบ ในการป้องกันพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ 1) ผู้นำชุมชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสุขภาพของคนในชุมชนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2) องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกยาสูบและ อสม. ในเรื่องการป้องกันพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร 3) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับนักวิชาการเกษตร ในการร่วมกันพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในการป้องกันพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งต้องคำนึงถึงบริบทของเกษตรกรในชุมชน 4) กำหนดมาตรการทางสังคมในการแก้ไขปัญหาการใช้สาเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของเกษตรกรปละผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผลการศึกษาดังกล่าวช่วยให้พยาบาลที่ปฏิบัติงานในชุมชน บุคคลากรสุขภาพ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลสุขภาพเกษตรกรปลูกยาสูบ สามารถนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์กลวิธีการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรปลูกยาสูบไปปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยาสูบมีพฤติกรรมในการป้องกันพิษจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้อย่างเหมาะสมต่อไป