ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนของกำลังพลโรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ Factors that affect the obesity of personnel in The Air Technical Training School, Directorate of Education and Training, The Royal Thai Air Force
คำสำคัญ:
โรคอ้วน ดัชนีมวลกาย ทัศนคติต่อโรคอ้วน พฤติกรรมสุขภาพ, obesity, Body Mass Index, attitude towards obesity, health behavioursบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทัศนคติต่อโรคอ้วนและพฤติกรรมสุขภาพ และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลในการทำนายการเกิดโรคอ้วน ของกำลังพลโรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ โดยปัจจัยที่นำมาพิจารณาประกอบด้วย เพศ อายุ ทัศนคติต่อโรคอ้วน และพฤติกรรมสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างคือ กำลังพลของโรงเรียนจ่าอากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ ทุกระดับชั้นยศ ทั้งหญิงและชาย จำนวน 200 คน ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นจำแนกตามหน่วยงานที่สังกัด เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามทัศนคติและพฤติกรรมสุขภาพต่อโรคอ้วนที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น สัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค ระหว่าง 0.842-0.895 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเพื่อสร้างตัวแปรใหม่ และนำไปวิเคราะห์การถดถอยแบบโลจิสติคพหุ (Multinomial Logistic Regression Analysis) เพื่อทำนายความน่าจะเป็นหรือโอกาสในการเกิดโรคอ้วนของกำลังพลโรงเรียนจ่าอากาศ ผลการวิจัยพบว่า ตัวแปรที่มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนคือ อายุ เพศ ทัศนคติต่อโรคอ้วน และพฤติกรรมสุขภาพ และจากการศึกษาครั้งนี้ พบว่า ผู้ที่มีอายุมากขึ้นโอกาสเกิดโรคอ้วนจะมีเพิ่มขึ้น อีกทั้งเพศชายมีโอกาสในการเป็นโรคอ้วนมากกว่าเพศหญิง ส่วนทัศนคติต่อโรคอ้วน ในเรื่องการควบคุมอาหาร ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลมาก มีการออกแรงหรือเคลื่อนไหวน้อย จะมีโอกาสในการเกิดโรคอ้วนมากขึ้น สำหรับพฤติกรรมสุขภาพ ในเรื่องอาหารแคลอรี่สูง ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูง จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ในเรื่องการดูแลสุขภาพ ผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานข้าวกล้อง ข้าวไม่ขัดสี และผักหลากหลายชนิด มีกิจกรรมคลายเครียด และเข้ารับการตรวจสุขภาพอยู่เสมอ จะมีโอกาสเกิดโรคอ้วนได้น้อย ส่วนตัวแปร ปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักตัว มุมมองต่อโรคอ้วน เวลาอาหารและการพักผ่อน ไม่มีผลในการทำนายการเกิดโรคอ้วน