บทบาทพยาบาลจิตเวชชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ: มิติจิตวิญญาณ The Role of the Community Psychiatric Nurses in the Elderly living with Spiritual Distress: Spiritual Dimension

ผู้แต่ง

  • วิลาวรรณ วิลาวรรณ

บทคัดย่อ

ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged society)1 และผู้สูงอายุมีความต้องการพึ่งพามากขึ้น2 ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ เช่น การมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเมื่อเกิดการเจ็บป่วย ทำให้มีโอกาสเข้าสังคม ทำกิจกรรมในชุมชนได้น้อยลง และการมีโรคภัยไข้เจ็บจากร่างกายอ่อนแอ2-4 ทั้งนี้มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายประการ ทั้งทางด้านกายภาพ ได้แก่ ภูมิคุ้มกันลดลง การทำงานของอวัยวะเสื่อมถอย มีปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และจิตใจ อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงบทบาททางสังคม ได้แก่ เครียด กังวล และซึมเศร้า3 หากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปอย่างมาก อาจทำให้ผู้สูงอายุบางรายตกอยู่ในภาวะพึ่งพิง (Dependent elders) ซึ่งหมายถึง การไร้ความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง ต้องให้ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ดูแลจัดการให้บางส่วนหรือทั้งหมด เช่น ผู้สูงอายุนอนติดเตียง ติดบ้าน เป็นต้น จากสถิติอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุไทยต่อวัยแรงงาน 100 คน ระหว่างปี พ.ศ. 2543 – 2583 พบว่า ผู้สูงอายุมีอัตราการพึ่งพิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง5 และยังส่งผลกระทบทางลบต่อผู้ดูแล ทำให้ผู้ดูแลเกิดความตึงเครียดทางอารมณ์ สถานะทางการเงินอาจลดน้อยลง ต้องทำงานหนัก เนื่องจากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น4,6 จากสถิติพบว่า ร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุไทย เคยถูกลูกหลานพูดไม่ดี ทะเลาะด้วย ทำให้เกิดความเสียใจ น้อยใจ รู้สึกว่าลูกหลานไม่เข้าใจ และไม่ดูแล7 ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความวิตกกังวลและกลัวว่าจะต้องพึ่งพาลูกหลานมากเกินไป ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวทำให้สังเกตได้ว่า บางครั้งผู้สูงอายุแสดงพฤติกรรมออกมาในลักษณะของการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่สามารถร่วมกิจกรรมในชุมชนได้ นอนไม่หลับ กลัวถูกทอดทิ้ง เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่สบายใจและกาย เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ไม่มีแรง คิดคาดการณ์ล่วงหน้า กระวนกระวาย เป็นต้น8,9 นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2559 พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 18.610 ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะซึมเศร้า (Depressive symptom) ปรับตัวไม่ได้ มีอาการทางจิต ท้อถอย เบื่อหน่าย อารมณ์รุนแรง พึ่งพาบุคคลอื่น คุณค่าในตัวเองลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นความเจ็บป่วยทางด้านจิตวิญญาณ (Spiritual distress)11,12 ซึ่งต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การพยาบาลมิติจิตวิญญาณ (Spiritual nursing care) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพยาบาลแบบองค์รวม (Holistic nursing care) ที่ส่งผลโดยตรงต่อบุคคล และไม่สามารถแยกออกจากการดูแลทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมได้ แต่การพยาบาลมิติจิตวิญญาณ เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อดูแลบุคคลให้สามารถค้นหาความหมายชีวิต ความหวัง และความสงบสุขต่อสิ่งที่เผชิญอยู่ได้13 โดยพยาบาลจิตเวชชุมชน (Community psychiatric nurse) ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน และสามารถเข้าถึงบุคคลอื่นได้ง่าย โดยอาศัยหลักการเอาใจใส่ (Empathy) มีการตระหนักรู้ตนเอง (Self-awareness) และให้การพยาบาลด้านจิตใจได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับการขับเคลื่อนระบบการดูแลสุขภาพจิต  ในชุมชนของประเทศไทยที่พบว่า ปัญหาด้านจิตใจมีความซับซ้อน และรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายโดยพยาบาลวิชาชีพทั่วไป จึงมีความจำเป็นที่พยาบาลจิตเวชที่มีความรู้ความชำนาญ มีศักยภาพด้านการพยาบาลทางด้านจิตเวชเข้าดำเนินงานในชุมชน14 เพื่อให้การพยาบาลด้านจิตใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณที่ช่วยตอบสนองต่อปัญหาของผู้สูงอายุในชุมชนที่มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณได้อย่างแท้จริง

References

บทบาทพยาบาลจิตเวชชุมชน ผู้สูงอายุ ภาวะเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-11