ต้นทุนประสิทธิผลของ โปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียง ในผู้สูงอายุโรคเรื้อรัง ในบริบทสังคมชนบทกึ่งเมือง จังหวัดยโสธร Cost – Effectiveness of Sufficiency Health Promotion Program in Elders with Chronic Disease in Semi-urban Context, Yasothon Province
บทคัดย่อ
ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจ ที่อาจนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง การส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียงที่สอดคล้องกับบริบทของสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อวิถีชีวิต จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental research) มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลของโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียงในผู้สูงอายุโรคเรื้อรัง บริบทชนบทกึ่งเมือง จังหวัดยโสธร กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้สูงอายุโรคเรื้อรัง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 85 คนเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียง และกลุ่มควบคุม จำนวน 85 คน รับบริการส่งเสริมสุขภาพตามมาตรฐานคลินิกผู้สูงอายุ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลต้นทุนด้านผู้ให้บริการและผู้รับบริการ แบบวัดคุณภาพชีวิตฉบับย่อชุดภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) เก็บข้อมูลก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรม ต้นทุนประสิทธิผลประเมินจากจำนวนเงินที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างหนึ่งรายมีระดับคุณภาพชีวิตดีขึ้น 1 ระดับ
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียงมีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ต้นทุนโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียงในกลุ่มทดลอง ในมุมมองของผู้ให้บริการและผู้รับบริการเท่ากับ 66,500 บาท และ 35,000 บาท ตามลำดับ ในขณะที่ต้นทุนการส่งเสริมสุขภาพตามมาตรฐานคลินิกผู้สูงอายุในกลุ่มควบคุม ในมุมมองของผู้ให้บริการและผู้รับบริการเท่ากับ 42,750 บาทและ 14,300 บาท ตามลำดับ ประสิทธิผลของการเข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียง ทำให้ผู้สูงอายุจำนวน 17 คนพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น 1 ระดับ ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 1 ระดับ จำนวน 2 คน ในมุมมองของผู้ให้บริการ ต้นทุนต่อหน่วยประสิทธิผลเท่ากับ 3,911.76 บาทในกลุ่มทดลอง และ 21,375 บาทในกลุ่มควบคุม ในมุมมองของผู้รับบริการ ต้นทุนต่อหน่วยประสิทธิผลเท่ากับ 2,058.82 บาท ในกลุ่มทดลอง และ 7,150 บาท ในกลุ่มควบคุม ตามลำดับ
สรุป ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบพอเพียงมีต้นทุนและประสิทธิผลทั้งในทัศนะของผู้ให้บริการและผู้รับบริการสูงกว่าผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแลตามปกติ