ระยะเวลาในการหย่าเครื่องช่วยหายใจและอัตราการ ใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ
คำสำคัญ:
แนวปฏิบัติการหย่าเครื่องช่วยหายใจ, ความสำเร็จในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ, ระยะเวลาหย่าเครื่องช่วยหายใจ, อัตราการใส่ท่อซ้ำบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเปรียบเทียบ (Comparative study) แบบ Retrospective and Prospective Uncontrolled before and after Intervention Study เพื่อศึกษาผลของการใช้แนวปฏิบัติในการหย่าเครื่องช่วยหายใจต่อความสำเร็จของการหย่าเครื่องช่วยหายใจ ระยะเวลาในการหย่าเครื่องช่วยหายใจและอัตราการใส่ท่อซ้ำ ในหอผู้ป่วยหนัก กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจงจำนวน 64 รายประกอบด้วย กลุ่มก่อนใช้แนวปฏิบัติที่ได้รับการดูแลตามปกติจำนวน 32 ราย และกลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยใช้แนวปฏิบัติที่สร้างขึ้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวน 32 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลผลการวิจัยโดยใช้แบบบันทึกที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น และเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มก่อนใช้แนวปฏิบัติจากเวชระเบียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Fisher’s Exact test และ Mann Whitney U-test
ผลการวิจัยพบว่าความสำเร็จในการหย่าเครื่องช่วยหายใจในกลุ่มที่ใช้แนวปฏิบัติสูงกว่ากลุ่มก่อนใช้แนวปฏิบัติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p =.005) ระยะเวลาในการหย่าเครื่องช่วยหายใจในกลุ่มที่ใช้แนวปฏิบัติต่ำกว่ากลุ่มก่อนใช้แนวปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p =.000) รวมทั้งพบว่าอัตราการใส่ท่อซ้ำในกลุ่มที่ใช้แนวปฏิบัติต่ำกว่ากลุ่มก่อนใช้แนวปฏิบัติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p =.005) ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการพยาบาลผู้ป่วยที่ใส่ท่อหลอดลมคอและใช้เครื่องช่วยหายใจ ข้อเสนอแนะควรมีการนำแนวปฏิบัติการหย่าเครื่องช่วยหายใจไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่ใส่ท่อหลอดลมคอและใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ถอดท่อหลอดลมได้เร็วขึ้น