บทบาทพยาบาลอนามัยชุมชนในการป้องกันโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน The Role of Community Health Nurse in Obesity Prevention of School Children
คำสำคัญ:
โรคอ้วน, เด็กวัยเรียน, การป้องกันโรค, พยาบาลอนามัยชุมชนบทคัดย่อ
โรคอ้วนในเด็กวัยเรียนเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังคงเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ.2557 ว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึง 41 ล้านคนมีภาวะโภชนาการเกินหรืออ้วน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาในประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงเท่านั้น แต่ขณะนี้โรคอ้วนในเด็กยังเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับกลางจนถึงต่ำอีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง และครึ่งหนึ่งของเด็กที่เป็นโรคอ้วนเป็นเด็กที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย1 คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ.2568 จะมีเด็กที่เป็นโรคอ้วนทั่วโลก 70 ล้านคน2 และอุบัติการณ์ของโรคอ้วนและอ้วนรุนแรงจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 20 ปีข้างหน้า3 ในประเทศไทยก็เช่นกันสถานการณ์ภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.5 ในปี พ.ศ.2558 เป็นร้อยละ 13.1 ในปี พ.ศ. 25594 สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขที่รายงานสัดส่วนของเด็กไทยที่เข้าสู่ภาวะอ้วนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าในปี พ.ศ.2558 เด็กก่อนวัยเรียนจะมีสัดส่วนเด็กที่เป็นโรคอ้วนสูงขึ้น เมื่อเทียบระหว่างเด็กอ้วนและเด็กที่สมส่วนคิดเป็น 1 ใน 5 ส่วนและเด็กในวัยเรียนจะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 2 ใน 10 โดยเฉพาะเด็กในเมืองจะอ้วนร้อยละ 20 - 25 แสดงให้เห็นว่าอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ5.8 เป็นร้อยละ6.7 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ15.55
สาเหตุสำคัญของโรคอ้วนในเด็กมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง และขาดวินัยในการใช้เวลาว่างและขาดการออกกำลังกาย รวมถึงอิทธิพลจากสื่อโฆษณาที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงของโรคอ้วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ส่งผลให้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้น เด็กที่เริ่มอ้วนและอ้วนจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ที่สำคัญคือเด็กที่เป็นโรคอ้วนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนร้อยละ 25 และหากเป็นวัยรุ่นอ้วนโอกาสจะยิ่งสูงถึงร้อยละ 75 โรคอ้วนจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางด้านร่างกาย เช่น ในเด็กอายุ 5-17 ปีที่อ้วนจะมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าเด็กปกติ2,6 เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และข้อเข่าเสื่อม ในรายที่อ้วนรุนแรงจะมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ เด็กจะนอนกรนเนื่องจากเด็กจะได้รับออกซิเจนน้อย มีการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอาจหยุดหายใจขณะหลับ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ อารมณ์และสังคม เป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง เครียดและซึมเศร้า6 การดูแลให้เด็กในวัยนี้มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้องและได้เคลื่อนไหวร่างกาย ใช้พลังงานในการออกกำลังกายหรือการละเล่นบ้างก็จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่เหมาะสมกับวัยและอายุ มีพัฒนาการที่ดีและศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้ามหากเด็กไม่ได้รับการประเมินสุขภาพ ขาดการเอาใจใส่ปล่อยปะละเลยจนเกิดโรคอ้วนก็จะส่งผลกระทบมากมายตามมาดังได้กล่าวในข้างต้น ดังนั้นการป้องกันโรคอ้วนในเด็กและการรักษาที่มีประสิทธิภาพจึงมีความจำเป็นมากกว่า
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เด็กวัยเรียนมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเด็กเองและครอบครัว รวมทั้งยังมีผลต่อการศึกษาเล่าเรียนของเด็ก บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความหมายของโรคอ้วน การประเมินภาวะโภชนาการในเด็กวัยเรียน สาเหตุ ผลกระทบจากโรค การป้องกันโรคอ้วนในเด็ก รวมทั้งบทบาทของพยาบาลอนามัยชุมชนในการป้องกันโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน เพื่อเป็นแนวทางให้พยาบาลอนามัยชุมชน บุคลากรทางสาธารณสุข และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กเกิดความรู้ความเข้าใจและเห็นความสำคัญของโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน อีกทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการป้องกันโรคอ้วนและส่งเสริมสุขภาพเด็กวัยเรียนให้เติบโตเต็มศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป