พระพุทธศาสนากับการพัฒนาคุณภาพการบริการ Buddhism with Services Quality Development
คำสำคัญ:
พระพุทธศาสนา คุณภาพการบริการ หลักอริยสัจ 4 การเจริญสติปัฏฐาน 4บทคัดย่อ
การพัฒนาคุณภาพการบริการ คือ ผู้ให้บริการต้องมีความตระหนักรู้ว่าความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดนั้นอยู่ที่ใด เพื่อที่จะหยิบยกความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดมาปรับปรุง นำไปสู่การขจัดและลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดซ้ำ โดยยึดหลักการของความปลอดภัยและจริยธรรมของผู้รับบริการ เพื่อให้เกิดคุณภาพการบริการทางด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในระบบทางการแพทย์และการพยาบาล โดยการบูรณาการทางด้านความรู้ร่วมกับวิทยาการต่างๆ เพื่อมุ่งหวังในการพัฒนาระบบการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชากรไทยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยในลักษณะของสหวิทยาการร่วมกัน (Multidisplinary)1, 2 โดยมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลทั้งด้านร่างกายและจิตใจรวมไปถึงจิตวิญญาณ ส่วนใหญ่ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธ โดยค่านิยมและความเชื่อทางด้านพุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อพื้นฐานทางความเชื่อและทางวัฒนธรรมพื้นฐานของสังคม ซึ่งทีมสุขภาพควรที่จะนำมาบูรณการในการดูแลสุขภาพองค์รวม (Holistic health) นอกจากนี้เรายังสามารถนำหลักของพระพุทธศาสนามาใช้ในการพัฒนาคุณภาพบริการ และระบบการดูแลสุขภาพได้อีกด้วย
จากการปฏิบัติงานให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาคุณภาพการบริการของผู้เขียน พบปัญหา 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การยอมรับซึ่งกันและกันของบุคคล เช่น มักเกิดความขัดแย้งในการประสานงานและการสื่อสารระหว่างหน่วยงานและในหน่วยงาน อันเนื่องมาจากการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน และ 2) ระบบของการบริหารของหน่วยงานที่ไม่เอื้อต่อผู้ปฏิบัติ เช่น ไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลผู้มารับบริการ รวมถึงระบบการคัดกรอง การติดตามอาการและการประเมินผล เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงและข้อผิดพลาดในการทำงาน นั่นคือควรที่จะมีการจัดระบบการบริหารและจัดการความเสี่ยงในโรงพยาบาล ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติ และจากความผิดพลาดในระบบงานของโรงพยาบาล รวมถึงการให้บริการของสหสาขาวิชาชีพ
นั่นคือบุคลากรทุกคนจึงควรที่จะตระหนักถึงความสำคัญของการขจัดหรือลดความเสี่ยงลงให้น้อยที่สุด และต้องมุ่งมั่นในการกระทำของตนเอง ซึ่งต้องอาศัยขั้นตอนและการมีส่วนร่วมของทุกๆหน่วยงานในโรงพยาบาล ในการดำเนินการต่อการค้นหาความเสี่ยงต้องอาศัยความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์และเทคโนโลยีเฉพาะของแต่ละเรื่อง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือบุคลากรต้องมีทั้งความรู้ ความสามารถและทักษะ ตลอดจนเจตคติที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้นจึงควรมีการกระตุ้นและส่งเสริมให้ตระหนักถึงการที่ต้องขจัดความเสี่ยงและโอกาสผิดพลาด รวมทั้งมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง