การจัดการเรียนการสอนทางการพยาบาลเพื่อความเป็นอิสระของนักศึกษา Instruction in Nursing for Students’ Freedom

ผู้แต่ง

  • อาภา หวังสุขไพศาล
  • ภรณี สวัสดิ์-ชูโต
  • โสรัตน์ วงศ์สุทธิธรรม

คำสำคัญ:

การเรียนการสอนทางการพยาบาล ความเป็นอิสระ นักศึกษา

บทคัดย่อ

เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดการศึกษาของพยาบาลเป็นไปเพื่อตอบสนองบริการขององค์การทางสุขภาพซึ่งมีการจัดการอย่างเข้มงวด มีวินัย และพร่ำสอนนักศึกษาให้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง1  แม้ว่าระยะกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา นักการศึกษาทางการพยาบาลหลายคนได้เสนอวิธีการสอนแบบใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สามารถชี้นำตนเองในการเรียนรู้และกล้าตัดสินใจอย่างเหมาะสม อาทิเช่น การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก2,3  การคิดอย่างมีวิจารณญาณ4  และการสอนแบบใช้การวิจัยเป็นฐาน5 วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ๆนี้ กลับยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาใช้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาพยาบาล ในทางตรงข้าม ยังคงพบเห็นนักศึกษาพยาบาลที่ต้องท่องจำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนในวิชาชีพ  การจดจำขั้นตอนของเทคนิคการพยาบาลจำนวนมาก อีกทั้งกฎเกณฑ์ ระเบียบ วินัยที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดทำให้บางครั้งอาจนำมาสู่การปิดกั้นและลดทอนศักยภาพของนักศึกษา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวิถีการดำรงชีวิตปกติ และขาดเสรีภาพใน การเลือกวิธีปฏิบัติตามการวินิจฉัยของตนเอง

ผลลัพธ์การจัดการศึกษาจะได้บัณฑิตที่มีคุณลักษณะอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนเป็นสำคัญ บทความนี้จึงมีความประสงค์จะนำเสนอสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีในมุมมองซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการกดขี่ในปฏิสัมพันธ์การเรียนการสอนของเปาโล ฟรีแอร์ (Paulo Freire)6 ร่วมกับทฤษฎีวิพากษ์ ตลอดจนกรณีตัวอย่างการใช้วิธีการสะท้อนคิดที่ส่งเสริม ความเป็นอิสระให้แก่นักศึกษา เพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ที่มีความสนใจในการพัฒนาวิธีการสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงอิสรภาพทางความคิดของตน

Downloads