การประเมินผลนโยบายต่อการขับเคลื่อนโครงการอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืนในพื้นที่ของ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ปีงบประมาณ 2555
คำสำคัญ:
อำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง, การประเมินผล, นโยบายบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินนโยบายต่อการขับเคลื่อนอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น โดยใช้แบบจำลอง CIPP ของสตัฟเฟิลบีม ด้วยการประเมิน 4 ด้าน มีบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลลัพธ์ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวน108 คน จาก 43 หน่วยงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสนทนากลุ่ม แบบสอบถามและข้อมูลย้อนหลังจากรายงานต่างๆ การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือใช้การตรวจสอบความตรงเนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรวจสอบความถูกต้อง และความเชื่อมโยงของข้อมูลที่ได้จากผู้ให้ข้อมูล ตรวจสอบข้อมูลด้วยเทคนิคสามเส้า ใช้ระยะเวลาการศึกษารวม 21 เดือน ระหว่าง มกราคม 2554 - กันยายน 2555 ผลการประเมินพบว่า ด้านสาระนโยบายมีความชัดเจน สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันของการป้องกันควบคุมโรค ส่วนใหญ่สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ ด้านการจัดสรรงบประมาณพบว่า ร้อยละ 53.3 ของผู้ถูกประเมิน มีความเห็นว่าการโอนงบประมาณสนับสนุน เพื่อพัฒนาศักยภาพทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ระดับตำบลยังค่อนข้างล่าช้า และการสื่อสารถ่ายทอดนโยบายมีความล่าช้าและไม่ครอบคลุมในระดับอำเภอและตำบลในปีแรก ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 เห็นว่ารูปแบบการอบรมเนื้อหา และการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการอบรมทีม SRRTตำบลมีความเหมาะสม แต่เวลาอบรมเพียง 1 วันไม่เพียงพอ สำหรับองค์ประกอบของปัจจัยสำคัญต่อผลสำเร็จในการป้องกันควบคุมโรค พบว่า ส่วนใหญ่ระดับอำเภอจะเลือกนำเสนอจากปัญหาโรคประจำถิ่นในพื้นที่ และความพร้อมของทีมปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้แก่ ไข้เลือดออก เล็ปโตสไปโรซิส อาหารเป็นพิษ และวัณโรค ตามลำดับ ในด้านการบริหารจัดการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนงานอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง พบว่า ได้มีความพยายามจะผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ ทั้งในระดับเขตและระดับจังหวัด ความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ลดอัตราการป่วย การตายลง และพัฒนาระบบข้อมูลระบาดวิทยา เพื่อให้ระบบงานประจำที่เชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
ผู้วิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาโครงการอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน ในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมให้นโยบายมีพลังขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จของการดำเนินโครงการอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืนต่อไปในอนาคต
Downloads
เผยแพร่แล้ว
How to Cite
ฉบับ
บท
License
ความรับผิดชอบ
บทความที่ลงพิมพ์ในวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือวิจัย และวิเคราะห์ตลอดจนเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของวารสารสำนักงาน ป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น หรือ ของกองบรรณาธิการแต่ประการใด ผู้เขียนต้องรับผิดชอบต่อบทความของตนเอง
ลิขสิทธ์บทความ
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์จะถือเป็นลิขสิทธิ์ของสำนักงานป้องกันตวบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น