ข้อมูลเบื้องต้น
จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมการตีพิมพ์
วารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ผลงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ทางวิชาการในการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ และแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการวิจัยของสมาชิกเครือข่ายและผู้สนใจ ซึ่งวารสารให้ความสำคัญด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ จึงกำหนดแนวปฏิบัติตามหลักการ และมาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์ รายละเอียดดังนี้
จริยธรรมของผู้นิพนธ์
- ผู้นิพนธ์ต้องไม่ส่งบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ หรืออยู่ในกระบวนการกลั่นกรองบทความในวารสารทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ นอกจากนี้เมื่อบทความได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น แล้วผู้เขียนจะต้องไม่มีการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในแหล่งอื่นใด
- ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อในบทความต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยจริง ตั้งแต่กระบวนการพัฒนากรอบแนวคิด การออกแบบ การดำเนินการ การวิเคราะห์ การแปลผลวิจัย และสรุปผลการศึกษา และให้ใส่ชื่อผู้นิพนธ์ทุกคนในไฟล์บทความที่ส่งเข้ามายังระบบตอบรับบทความออนไลน์ ThaiJo 2.0 ของวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น
- ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน และต้องมีการอ้างอิงเนื้อหาต่างๆ ในบทความทั้งข้อความ ภาพ ตาราง เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หากพบการละเมิดลิขสิทธิ์ ทางวารสารจะดำเนินการถอนบทความออกจากการเผยแพร่ทันที และหากมีการฟ้องร้องให้เป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์แต่เพียงผู้เดียว
- ผู้นิพนธ์จะต้องไม่รายงานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน ไม่สร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือน ตกแต่ง หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล เพื่อให้สอดคล้องกับผลการศึกษาของตนเอง
จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
- ผู้ประเมินต้องให้ความสำคัญต่อคุณภาพบทความตามหลักวิชาการเป็นหลัก ปราศจากอคติ และความเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ เป็นเกณฑ์ในการตัดสิน และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์
- ผู้ประเมินต้องรักษาความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ทำการประเมินให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในขณะที่บทความอยู่ระหว่างการตรวจประเมิน
- ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำข้อมูลของบทความที่ตนประเมินไปเป็นผลงานของตนเอง ยกเว้นการอ้างอิงบทความหลังจากบทความที่ตนประเมินได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว
- กรณีผู้ประเมินพบว่าบทความที่ประเมินเป็นบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนผลงานอื่น ผู้ประเมินต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที
- ผู้ประเมินต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน
- ผู้ประเมินควรจะต้องทบทวนและให้ข้อเสนอแนะต่อบทความตามกรอบเวลาที่กำหนดของวารสาร
จริยธรรมของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ
- บรรณาธิการต้องกำกับ ติดตาม ดูแล และประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวารสาร การรับรองคุณภาพของผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ ความถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
- บรรณาธิการต้องใช้วิจารณญาณตามหลักวิชาการในการประเมินบทความอย่างปราศจากอคติ
- บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความ แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในขณะที่บทความอยู่ระหว่างการตรวจประเมิน ซึ่งวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น กำหนดเกณฑ์การประเมินคุณภาพบทความสำหรับผู้ทรงคุณวุฒิแบบปกปิดรายชื่อ (Double blinded)
- บรรณาธิการต้องไม่เผยแพร่บทความที่เคยตีพิมพ์ที่วารสารอื่นๆ มาแล้ว โดยมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง ซึ่งพิจารณาจากผลประเมินของระบบ ThaiJo2.0 ไม่เกิน 25% และหากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นเกินเกณฑ์ จะระงับการนำเข้าสู่กระบวนการประเมินบทความ และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง
- บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ โดยเด็ดขาด เพื่อรักษาไว้ซึ่งจริยธรรม จรรยาบรรณการทำงานอย่างเคร่งครัด
- บรรณาธิการต้องไม่ทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลงบทความ และข้อมูลผลการประเมินบทความ ซึ่งถือเป็นการขัดขวางการแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการวิจัยระหว่างผู้นิพนธ์และผู้ประเมิน และสามารถชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความ (Peer review) และมีความพร้อมในการชี้แจงความเบี่ยงเบนต่างๆ จากกระบวนการตรวจสอบที่ได้ระบุไว้
- บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพของวารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น รวมทั้งปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับและคงไว้ซึ่งมาตรฐานและคุณภาพดังกล่าว