ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในตนเอง สำหรับนักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี

ผู้แต่ง

  • บุบผา ดำรงกิตติกุล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข
  • พนมพร กีรติตานนท์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

คำสำคัญ:

การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง , นักศึกษาพยาบาล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในตนเอง (Transformative Learning) ของนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี และสังเคราะห์ข้อเสนอแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในตนเองสำหรับนักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี โดยเก็บข้อมูลจากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูล 2 กลุ่ม ได้แก่ อาจารย์ผู้สอนวิชาการพยาบาล จำนวน 12 คน และนักศึกษาพยาบาลที่มีประสบการณ์การฝึกปฏิบัติ จำนวน 10 คน

ผลการศึกษาพบว่า วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี มีการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในตนเองสำหรับนักศึกษาพยาบาลตามหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) เริ่มตั้งแต่ ปีการศึกษา 2561 โดยจัดการเรียนรู้ภาคทฤษฎีเป็นบางรายวิชาและภาคปฏิบัติทุกรายวิชาเป็นบางกลุ่ม การจัดการเรียนรู้มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) จัดให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตามที่ออกแบบ 2) ให้นักศึกษาคิดใคร่ครวญด้วยตนเองเป็นรายบุคคล 3) จัดกิจกรรมให้มีการสะท้อนคิดร่วมกับผู้อื่นผ่านการสนทนา 4) สรุปความคิดจากการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้หรือแก้ปัญหา ประเมินผลโดยใช้การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ในรายวิชาตามหลักสูตร ประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ในมุมมองของอาจารย์ เห็นว่าช่วยพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษาได้ทุกด้านทั้งความรู้ ทักษะ พฤติกรรมจริยธรรม การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล รู้ศักยภาพของตนเองที่เป็นจุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนา รับฟังและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ช่วยปรับเปลี่ยนเจตคติในการเรียน ในมุมมองของนักศึกษา นอกจากพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้แล้วยังส่งผลดีด้านจิตใจ ช่วยลดความทุกข์ความเครียดจากการฝึกปฏิบัติงาน และพบข้อเสนอที่สำคัญเรื่องแนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงในตนเองสำหรับหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2565) ได้แก่ 1) ผู้บริหารควรกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจน ให้มีการจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงครอบคลุมทุกรายวิชาทางการพยาบาล 2) เตรียมอาจารย์ให้มีความพร้อม โดยปรับเปลี่ยนความคิด สร้างผู้นำการจัดการเรียนรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมีความรู้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง นำไปต่อยอดขยายผลเป็นการเรียนรู้ในวิถีชีวิตใหม่ 3) เตรียมผู้เรียนให้เข้าใจเป้าหมายและขั้นตอนการเรียนรู้ 4) เตรียมความพร้อมด้านสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

References

กนกนุช ชื่นเลิศสกุล. (2560). Transformative Learning. เอกสารการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง: บูรณาการรูปแบบการรู้ในการพยาบาล. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี.

ชาย โพธิสิตา. (2562). ศาสตร์และศิลป์การวิจัยเชิงคุณภาพ: คู่มือนักศึกษาและนักวิจัยสังคมศาสตร์ (พิมพ์ครั้งที่ 8 ปรับปรุงใหม่). อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

ทินกร บัวชู, ณัฏฐ์ฌาฑ์ สร้อยเพ็ชร, ประภาพร เมืองแก้ว,ปภาดา ชมภูนิตย์ และศิริพร ฉายาทับ. (2563). การจัดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง: การประยุกต์ใช้ในรายวิชาการบริหารและการจัดการทางการพยาบาล. วารสารพยาบาลทหารบก, 21(3), 20-28.

ลินดา เยห์ และฐิติกาญจน์ อัศตรกุล. (2562). การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงบนฐานการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาวิทยาการเรียนรู้) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. วารสารพัฒนศาสตร์, 2(2), 102-139.

วิจารณ์ พานิช. (2558). การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning). เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมสโปรดักส์.

องค์อร ประจันเขตต์. (2557). การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง: มุมมองในการศึกษาทางการพยาบาล. วารสารพยาบาลทหารบก, 15(3), 180-182.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-27