ความคิดเห็นของนักศึกษาต่อการดำเนินการ ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาธารณสุขศาสตร์ (ทันตสาธารณสุข)

ผู้แต่ง

  • จุรีรัตน์ กิจสมพร กลุ่มวิจัย สถาบันพระบรมราชชนก
  • จุฬารัตน์ ห้าวหาญ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์
  • อรชร อินทองปาน กลุ่มวิจัย สถาบันพระบรมราชชนก
  • รุจิรา เจียมอมรรัตน์ กลุ่มวิจัย สถาบันพระบรมราชชนก

คำสำคัญ:

ความคิดเห็น, ทันตาภิบาล, นักศึกษา

บทคัดย่อ

       การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาต่อการดำเนินการตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาธารณสุขศาสตร์ (ทันตสาธารณสุข) กลุ่มตัวอย่าง ทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาธารณสุขศาสตร์ (ทันตสาธารณสุข) ในโครงการร่วมผลิต แบ่งเป็นนักศึกษาที่เคยผ่านการเรียนหลักสูตรอื่นหรือเคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน นักศึกษาที่ไม่เคยผ่านการเรียนหลักสูตรหรือไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ทำการสัมภาษณ์จนได้ข้อมูลอิ่มตัวจำนวนทั้งสิ้น 29 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกตามแนวทางการสัมภาษณ์ที่ได้พัฒนาขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis)

    ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ากลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 82.76) มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 37.93 ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ เป็นร้อยละ 51.72

ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของนักศึกษาต่อการดำเนินการตามหลักสูตรที่นักศึกษาได้ถ่ายทอดประสบการณ์มายังผู้วิจัย คือ “ทราบข่าวจากคนอื่นเลยมาสมัคร เรียนค่อนข้างหนักจนแทบไม่มีเวลาพัก ตระหนักว่าจบแล้วมีงานทำเลยไม่เปลี่ยนไปเรียนสายอื่น แต่จบไปทำงานคงขยับเพราะยังอยากมีความก้าวหน้าในสายอาชีพ” จะเห็นได้ว่าถึงแม้ในเบื้องต้นนักศึกษาจะไม่ได้มีความตั้งใจด้วยตนเองในการเข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้โดยนักศึกษาอาจจะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจากผู้ปกครอง จากอาสาสมัครสาธารณสุขถึงข้อดีของหลักสูตรนี้คือ จบแล้วมีงานทำและได้อยู่ใกล้บ้านทำให้นักศึกษาตัดสินใจสมัครเข้ามาศึกษาในหลักสูตร และเมื่อเข้ามาศึกษาแล้วพบว่าการเรียนการสอนนั้นหนักและยาก แต่นักศึกษาก็มีความพยายามในการเรียนการสอน มีการจัดกลุ่มทบทวน มีการติดตามเพื่อนร่วมชั้นให้มาเข้าเรียน และเมื่อจบการศึกษาตามหลักสูตรแล้วนักศึกษาตั้งใจจะกลับไปปฏิบัติงานเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และต้องการการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพื่อความก้าวหน้าในสายอาชีพของตน

References

นันทิยา เสถียรวุฒิวงศ์. (2553). ความคิดเห็นต่อสมรรถนะหลักของทันตาภิบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล: กรณีศึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัดเชียงใหม่. รายงานการศึกษาอิสระ สาขาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นิธิมา เสริมสุขีอนุวัฒน์. (2553). ปัญหาทันตาภิบาล-ปัญหาระบบบริการสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ. วารสารโรงพยาบาลชุมชน, 11(5-6), 40-43.

สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย. (2553). 4 ทศวรรษทันตาภิบาลไทย. หมออนามัย, 20 (1),18-23.

สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย. (2553). 4 ทศวรรษทันตาภิบาลไทย (2). หมออนามัย, 20 (2), 35-41.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-09-03