A การปฏิบัติตนขณะมีประจำเดือนของสตรีสุรินทร์ 3 ชนเผ่า

ผู้แต่ง

  • จันทร์จิรา หวังข้อกลาง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์
  • จินตภา มรรคธนัท วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์
  • ปิยธิดา สีลานันท์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์
  • ธาดา บันลือทรัพย์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์
  • นุจรี สมปอง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์
  • สุพิตรา เศลวัตนะกุล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์

คำสำคัญ:

การปฏิบัติตนขณะมีประจำเดือน, สตรีสุรินทร์ 3 ชนเผ่า

บทคัดย่อ

     การวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปฏิบัติตนขณะมีประจำเดือนของสตรีสุรินทร์ 3 เผ่ากลุ่มตัวอย่าง ได้มาโดยการสุ่มกลุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (Convenience Sampling) จำนวนรวมทั้งสิ้น  15 คน  ได้แก่ สตรีชนเผ่าเขมรชุมชนบ้านเขวา อำเภอสังขะ สตรีชนเผ่าส่วย (กูย) ชุมชนบ้านโคกศิลา อำเภอศีขรภูมิ และสตรีชนเผ่าลาวชุมชนบ้านณรงค์  อำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์ เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสัมภาษณ์ เครื่องบันทึกเสียง และผู้วิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

     ผลการวิจัยพบว่า สตรีสุรินทร์ 3 ชนเผ่า ได้แก่ เขมร ส่วย ลาว ส่วนใหญ่เป็นสตรีวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-49 ปี ร้อยละ 53.33 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 66.67 และมีอาชีพรับจ้าง ร้อยละ33.33 ให้ประวัติการมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุ 12, 14 และ 13 ปี ร้อยละ 39.99, 33.32 และ 19.99 ตามลำดับ สตรีสุรินทร์  3 ชนเผ่า มีการปฏิบัติตนขณะมีประจำเดือนคล้ายคลึงกัน ดังนี้ 1) ด้านการดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย มีการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เฉลี่ยวันละ 2-4 ครั้ง และเปลี่ยนผ้าอนามัย 2-5 ผืนต่อวัน ไม่สระผม เพราะเชื่อว่าจะทำให้เลือดแข็งตัวและประจำเดือนหยุด 2) ด้านการรับประทานอาหารขณะมีประจำเดือน รับประทานอาหารตามปกติวันละ 3 มื้อ และมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป คือ รับประทานมากกว่าปกติ อยากรับประทานอาหารที่มีรสจัด เช่น เปรี้ยว เผ็ด เป็นต้น ห้ามรับประทานของเย็น เช่น น้ำแข็ง น้ำเย็น ผลไม้ที่มีความเย็น เช่น แตงโม แตงกวา เชื่อว่าทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติหรือไม่มาหรือมีประจำเดือนกะปริบกะปรอย และไม่ดื่มน้ำมะพร้าวขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้ปวดท้องและประจำเดือนมาไม่ปกติ 3) ด้านการออกกำลังกาย ไม่มีการออกกำลังกายขณะมีประจำเดือน 4) ด้านเพศสัมพันธ์ ห้ามมีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือนเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย 5) ด้านวิธีจัดการเมื่อมีอาการร่วมขณะมีประจำเดือน ได้แก่ ปวดท้อง ปวดเอว คัดตึงเต้านม เวียนศีรษะ หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย มีวิธีการจัดการ ได้แก่ การรับประทานยา (ยาพาราเซตามอล) นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ และดื่มน้ำอุ่น

References

กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา. (2556). ประจำเดือน (Menstruation) เรื่องที่ผู้หญิงควรรู้. สืบค้นจาก http://haamor.com/th

ชัญวลี ศรีสุโข. (2553). ปวดท้องประจำเดือน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์สุขภาพ.

วารุณี เพไร และภัทรพร อรัณยภาค. (2555). การศึกษาความชุกของการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ พฤติกรรมการจัดการตนเอง และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการกับการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิของนักศึกษามหาวิทยาลัยสยาม. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสยาม.

ประไพศรี ศิริจักรวาล และสุภาพร สุทัศน์วรวุฒิ. (2555). ข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภพที่ดี: การทบทวนและวิเคราะห์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

สร้อย อนุสรณ์ธีรกุล, พร้อมจิตร ห่อนบุญเหิม และสุชาดา สุวรรณคำ. (2542). ลักษณะการมีประจำเดือนในสตรีวัยรุ่น ปัญหาและการดูแล. วารสารวิจัย มข., 4 (1), หน้า 66-77.

สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล. (2553). นักวิจัยจุฬาฯ สำรวจกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนในผู้หญิงไทย. จุฬาสัมพันธ์, 53 (27), สืบค้นจาก http://www.research.chula.ac.th/web/cu_online/2553/vol_27_3.html

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-08-24