การดูแลผู้ป่วยบาดเจ็บช่องท้อง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การบาดเจ็บช่องท้องเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของผู้ป่วยอุบัติเหตุ เนื่องจากในช่องท้องมีอวัยวะที่สำคัญ หลายอย่างได้แก่ ม้าม ไต ทางเดินอาหาร และหลอดเลือดใหญ่ หากมีการบาดเจ็บอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ฉะนั้นแนวทางดูแลผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุทั่วไปจึงควรพิจารณาดูว่าผู้ป่วยได้รับการบาดเจ็บช่องท้องร่วมด้วยหรือไม่ โดยการซักประวัติเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีโอกาสได้รับบาดเจ็บอย่างไร การทราบกลไกการเกิดเหตุอย่างละเอียด รวมทั้งตำแหน่งและทิศทางของแรงที่กระทำต่อร่างกายทั้งในกรณีจากการกระแทก (blunt injury) หรือแบบทะลุทะลวง (penetrating injury)จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการคิดและวางแผนการวินิจฉัยและการสืบค้นการบาดเจ็บในขั้นตอนต่อไป การซักถามอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยสามารถบ่งบอกและอธิบายเกี่ยวกับอวัยวะที่จะได้รับบาดเจ็บภายในช่องท้องได้ ทั้งนี้ถ้าเป็นช่องท้องส่วนบนเป็นตำแหน่งที่มีการคาบเกี่ยวกันระหว่างช่องอกและช่องท้อง (thoraco-abdominal region) การบาดเจ็บบริเวณนี้ก็ควรคำนึงถึงอวัยวะที่จะได้รับการบาดเจ็บทั้งช่องอกและช่องท้องไปพร้อมกัน ในกรณีเดียวกัน การบาดเจ็บบริเวณช่องท้องส่วนล่างก็อาจคาบเกี่ยวกับการบาดเจ็บของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน( pelvic cavity)ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในการพิจารณาตำแหน่งของอวัยวะในช่องท้องว่าเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในช่องท้อง (intra abdominal organ) หรืออวัยวะที่อยู่หลังเยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneal organ) ก็มีความสำคัญในการอธิบายอาการและอาการแสดงของผู้ป่วย ตลอดจนแนวทางการตรวจวินิจฉัยสืบค้นด้วย กล่าวคือ เมื่อมีการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้องอาการและอาการแสดง (abdominal signs) ก็จะชัดเจนและมีลักษณะกระจาย(generalized peritonitis) ส่วนการบาดเจ็บของอวัยวะหลังเยื่อบุช่องท้อง (retroperitoneal organ) จะมีลักษณะเฉพาะที่ (localized peritonitis) ซึ่งอาจมีอาการและการตรวจร่างกายในบริเวณที่มีพยาธิสภาพที่ไม่ชัดเจนเท่าการบาดเจ็บของอวัยวะในช่องท้อง การบาดเจ็บบางชนิดจะมีร่องรอยการบาดเจ็บเป็นลักษณะเฉพาะและสามารถบ่งบอกอวัยวะที่จะได้รับบาดเจ็บบ่อยๆ ได้ เช่น seatbelt injury จะเห็นรอยคาดของสายรัดเข็มขัดนิรภัย อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บที่พบบ่อยในกรณีนี้คือลำไส้และขั้วหลอดเลือดเลี้ยงลำไส้และอาจมีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังด้วย ส่วน bicycle handle injury จะเกิดอุบัติเหตุขี่รถจักรยานล้มหรือ steering wheel injury จากการกระแทกของพวงมาลัยรถยนต์ จะพบมีการกระแทกเข้าที่ท้องส่วนบนและมักพบการบาดเจ็บของตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนต้น duodenum ได้ จะเห็นว่าร่องรอยการบาดเจ็บที่พบจะช่วยให้ผู้ตรวจนึกถึงการบาดเจ็บของอวัยวะที่พบบ่อยและเป็นแนวทางในการส่งตรวจเพื่อการวินิจฉัยต่อไป
Article Details
References
2. Cothren CC, Biffl WL, Moore EE. Trauma. In: Brunicardi FC, Andersen DK, Billiar TR, Dunn DL, Hunter JG, Matthews JB, Pollock RE, editors. Schwartz’s Principles of Surgery. 9th ed. New York: McGraw-Hill; 2010. p 135-96.
3. Timothy CF, Martin AC. Abdominal trauma, including indications for celiotomy. In: Mattox KL, Feliciano DV, Moore EE, editors. Trauma. 4th ed. New York: McGraw-Hill; 2000. p 583-602.
4. สมพล ฤกษ์สมถวิล. Rectal Injury. ใน : ชาญเวช ศรัทธาพุทธ, เรวัต ชุณหสุวรรณกุล, บรรณาธิการ. ตำราศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ 18. กรุงเทพฯ: กรุงเทพเวชสาร; 2557. หน้า 232-5.
5. Roeksomtawin S, Siltram S, Sakolsattayatorn P, Chuthapisth S. Liver injury in Siriraj Hospital. Siriraj Hosp Gaz 2004; 56(1): 18-25.
6. สมพล ฤกษ์สมถวิล. Pediatric Trauma. ใน : เลิศพงศ์ สมจริต, สุภาพร โอภาสานนท์, บรรณาธิการ. Update in Trauma Practice. กรุงเทพฯ: กรุงเทพเวชสาร; 2556. หน้า 173-85.