รูปแบบการสื่อสารในครอบครัวกับความเครียดของนักเรียนเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

Main Article Content

สโรบล ธนะคำดี
มุกดา ศรียงค์

บทคัดย่อ

           การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) รูปแบบการสื่อสารในครอบครัวของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 2) ความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา 3) เปรียบเทียบรูปแบบการสื่อสารในครอบครัวกับความเครียดของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา รูปแบบการสื่อสารในครอบครัวแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่1 การสื่อสารในครอบครัวเชิงบวกปริมาณมากและเชิงลบปริมาณมาก รูปแบบที่2 การสื่อสารในครอบครัวเชิงบวกปริมาณมากแต่เชิงลบปริมาณน้อย รูปแบบที่3 การสื่อสารในครอบครัวเชิงบวกปริมาณน้อยแต่เชิงลบปริมาณมาก และรูปแบบที่4 การสื่อสารในครอบครัวเชิงบวกปริมาณน้อยและเชิงลบปริมาณน้อย นักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียนที่2 ปีการศึกษา 2550 ของโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา เขตอำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรีจำนวน 535 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามรูปแบบการสื่อสารในครอบครัวและแบบสอบถามความเครียดของนักเรียนเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบน มาตรฐาน การทดสอบที(t-test) และวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 66.5 เพศชายร้อยละ 33.5 และมีพี่น้อง 2 คนเป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 49.6 เป็นลูกคนที่1ร้อยละ 61.30 มีเกรดเฉลี่ย 2.91 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.53 ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 3.01-4.00 ร้อยละ 43.90 ผู้ปกครองอยู่ด้วยกันร้อยละ 74.80 บิดาและมารดาของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาร้อยละ 45.6 และ ร้อยละ 43.0 ตามลำดับ บิดามีอาชีพรับราชการร้อยละ 28.60 มารดามีอาชีพกิจการส่วนตัวร้อยละ 29.0 รายได้ของครอบครัวอยู่ในระหว่าง 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 35.3 กลุ่มตัวอย่างมีความเครียดเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในระดับเครียดมากคิดเป็นร้อยละ 66.4 รองลงมามีความเครียดอยู่ในระดับเครียดมากที่สุดร้อยละ 20.2


           นักเรียนกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงและเพศชายมีความเครียดเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาใน สถาบันอุดมศึกษาโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ซึ่งนักเรียนเพศหญิงมีความเครียดมากกว่าเพศชาย (ค่าเฉลี่ยรวมเพศหญิงเท่ากับ 3.60 และเพศชายเท่ากับ 3.46) นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความเครียดเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาด้านเกรดเฉลี่ยโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 นักเรียนกลุ่มตัวอย่างได้รับรูปแบบการสื่อสารในครอบครัว รูปแบบที่2 การสื่อสารในครอบครัวเชิงบวกปริมาณมากแต่เชิงลบปริมาณน้อยมากที่สุด ร้อยละ40.4 และรูปแบบการสื่อสารที่นักเรียนได้รับน้อยที่สุดคือ รูปแบบที่1 การสื่อสารเชิงบวกปริมาณมากและเชิงลบปริมาณมากร้อยละ 14.8 ส่วนรูปแบบที่3 การสื่อสารเชิงบวกปริมาณน้อยแต่เชิงลบปริมาณมากร้อยละ 26.9 และรูปแบบที่4 การสื่อสารเชิงบวกปริมาณน้อยและเชิงลบปริมาณน้อย ร้อยละ 17.9 รูปแบบการสื่อสารในครอบครัวของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างทั้ง 4 รูปแบบ ทำให้นักเรียนมีความเครียดเกี่ยวกับการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ 0.001 แต่เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านที่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 คือ ด้านการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของนักเรียน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1. ศรีเรือน แก้วกังวาล. จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2545.

2. อรรัตน์ สว่างแสง. รูปแบบการสื่อสารกับความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากรสังกัดงานเลขานุการ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต].เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้; 2548.

3. ศุภลักษณ์ จงเจริญจิตเกษม. รูปแบบการสื่อสารในครอบครัวและสุขภาพจิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น. [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง; 2546.

4. Atwater E. Adolescence. 3rd ed. Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall; 1992.

5. ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์. พฤติกรรมการสื่อสาร. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2547.

6. กลุ่มงานฝึกอบรมการวิจัย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.ตำราชุดฝึกอบรมหลักสูตร“นักวิจัย”. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ; 2547.

7. อัญชลี ประสบจตุรพร. ความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการสื่อสารในครอบครัวกับการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง. [วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง; 2549.

8. วิชาดา วรรธนะชูเดช. ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่: ศึกษากรณีโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์; 2545.

9. สมปรารถนา ผาสุพันธ์. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเครียดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ. [วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; 2547.