การประเมินความเสี่ยงทางอาชีวอนามัยต่อการสัมผัสสารโทลูอีนของพนักงานจากตำแหน่งงานที่แตกต่างกันในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง

Main Article Content

พฤกษา โชตนะ
รศ.ดร.สุนิสา ชายเกลี้ยง

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสสารโทลูอีนของพนักงานในอาชีพที่แตกต่างกันและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตำแหน่งงานหรืออาชีพกับระดับความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารโทลูอีนของพนักงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยทำการสัมภาษณ์อาการผิดปกติ ตรวจวัดความเข้มข้นโทลูอีนในบรรยากาศ ตรวจวัดความเข้มข้นของ Hippuric acid ในปัสสาวะ และทำการประเมินความเสี่ยงทางอาชีวอนามัยโดยใช้เมตริกความเสี่ยง ผลการศึกษาพบว่า จากการตรวจวัดความเข้มข้นของสารโทลูอีนในบรรยากาศ พบว่าพนักงานทั้งสามตำแหน่งคือ พนักงานขับรถขนถ่ายน้ำมัน พนักงานเติมน้ำมัน และพนักงานคิดเงิน ส่วนใหญ่พนักงานมีระดับความเข้มข้นที่ระดับที่ 1 (ตรวจไม่พบ ถึง 200 ppb) การตรวจวัดความเข้มข้นของ Hippuric acid ในปัสสาวะของพนักงานพบว่ามีพนักงานที่มีค่าเกินค่าดัชนีทางชีวภาพของระดับ Hippuric acid  (1,600 mg/g Cr) จำนวน 2 คน และจากการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากความเข้มข้นของโทลูอีนในบรรยากาศและความเสี่ยงต่อสุขภาพจากความเข้มข้นของ Hippuric acid ในปัสสาวะ พบว่าพนักงานทั้งสามตำแหน่งงานส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงกว่ายอมรับได้ คือระดับต่ำ และพบความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารโทลูอีนในบรรยากาศกับความเสี่ยงต่อสุขภาพจากความเข้มข้นของ Hippuric acid ในปัสสาวะในพนักงานขับรถขนถ่ายน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value =0.04) จากผลการศึกษาเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติงานควรจัดให้มีการเฝ้าระวังสุขภาพแก่ผู้ปฏิบัติงาน การอบรมให้ความรู้ด้านการทำงานที่ปลอดภัย และการตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้แก่พนักงานที่ต้องทำงานในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือเกี่ยวข้อง

Article Details

บท
บทความวิจัย