พฤติกรรมการกินอาหารของนักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดนนทบุรี และปัจจัยที่สัมพันธ์กัน

Main Article Content

เยาวภา ติอัชสุวรรณ

บทคัดย่อ

งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ปัจจัยส่วนบุคคล  (2) พฤติกรรมการกินอาหาร และ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล กับพฤติกรรมการกินอาหารของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชพฤกษ์  การวิจัยใช้รูปแบบภาคตัดขวางเชิงพรรณนาและเชิงวิเคราะห์  ประชากรเป้าหมาย คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ อายุ 18 – 24 ปี ภาคการศึกษาที่ 1/2561 ใช้สูตรการคำนวณขนาดตัวอย่างของ เคลซีย์ และคณะ  ตัวอย่างที่ศึกษา  674 คน สุ่มตัวอย่างนักศึกษาแบบชั้นภูมิ  เครื่องมือการวิจัย เป็นแบบสอบถามให้ตอบด้วยตนเอง แบ่งเป็น 2 ส่วน  (1) ปัจจัยส่วนบุคคล  ได้แก่ ปัจจัยทางประชากรและสังคม  ปัจจัยขนาดของร่างกาย  และปัจจัยเชิงทฤษฎีทางพฤติกรรมสุขภาพ ประกอบด้วย ปัจจัยรูปลักษณ์ ปัจจัยความตั้งใจทำพฤติกรรมสุขภาพ และปัจจัยความเชื่อมั่นในความสามารถแห่งตน ซึ่งมีค่าความเที่ยง  0.791, 0.709 และ 0.929 ตามลำดับ  และ (2) พฤติกรรมการกินอาหารของนักศึกษา  แบ่งเป็น 3 แบบ  ได้แก่  แบบที่ 1 การทำพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่ควรทำ ใน 1 วัน ใน 1 สัปดาห์ แบบที่ 2 การไม่ทำพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ  และ แบบที่ 3  การทำพฤติกรรมการเลือกกินอาหาร/ปรุงอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งมีค่าความเที่ยง  0.794, 0.707 และ 0.862 ตามลำดับ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นค่าความถี่และร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  และการทดสอบไคสแควร์


                ผลการวิจัยพบว่า (1) ปัจจัยส่วนบุคคล  นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และทำงานประจำขณะเรียน สูงกว่านักศึกษาชาย นักศึกษาหญิงส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน ประมาณครึ่งหนึ่งของนักศึกษาชายมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนระดับที่ 2  นักศึกษาหญิงส่วนใหญ่รับรู้รูปลักษณ์ ความตั้งใจทำพฤติกรรมสุขภาพ และความเชื่อมั่นในความสามารถแห่งตน ของตนในระดับปานกลาง สูงกว่านักศึกษาชาย  การทำงานขณะเรียนและค่าดัชนีมวลกายของนักศึกษาชายและหญิงแตกต่างกัน  (2) พฤติกรรมการกินอาหาร นักศึกษาชายและหญิงส่วนใหญ่ทำพฤติกรรมการกินอาหารแบบที่ 1 แบบที่ 2 และ แบบที่ 3 ในระดับทำบางครั้ง ในทุกรายการ  อย่างไม่แตกต่างกัน และ (3) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับพฤติกรรมการกินอาหาร  ปัจจัยรูปลักษณ์ และปัจจัยความเชื่อมั่นในความสามารถแห่งตน มีความสัมพันธ์กับการทำพฤติกรรมการกินอาหาร


             ข้อสรุปการวิจัยและข้อเสนอแนะ  นักศึกษาชายและหญิงส่วนใหญ่ทำพฤติกรรมการกินอาหารในระดับทำบางครั้ง  ทฤษฎีพัฒนาการและทฤษฎีการพัฒนาปัญญาทางสังคมสามารถอธิบายปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการกินอาหาร  เสนอแนะผู้บริหารมหาวิทยาลัยจัดทำนโยบายและโครงการส่งเสริมแบบแผนพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพของนักศึกษาโดยการประยุกต์ทฤษฎีพัฒนาการและทฤษฎีทางพฤติกรรมสุขภาพ


 

Article Details

บท
บทความวิจัย