การพัฒนารูปแบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมของเทศบาลในจังหวัดนนทบุรี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมของเทศบาลในจังหวัดนนทบุรี เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ใช้กระบวนการจัดการ POSDC Model ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 P คือ Planning (การวางแผน) ขั้นตอนที่ 2 O คือ Organizing (การจัดองค์การ) ขั้นตอนที่ 3 S คือ Staffing (การบริหารงานบุคคล) ขั้นตอนที่ 4 D คือ Directing (การอำนวยการ) ขั้นตอนที่ 5 C คือ Controlling (การควบคุมกำกับ) และกระบวนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ซึ่งมี 5 องค์ประกอบ องค์ประกอบที่ 1 เมืองอยู่ดี องค์ประกอบที่ 2 คนมีความสุข องค์ประกอบที่ 3 สิ่งแวดล้อมยั่งยืน องค์ประกอบที่ 4 การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และพัฒนา องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการที่ดี พื้นที่ในการศึกษา ได้แก่ เทศบาลนครนนทบุรี เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองบางกรวย และเทศบาลเมืองบางบัวทอง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่ แบบสอบถามศึกษาสภาพปัจจุบันของระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม และปัญหาของระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม แบบสัมภาษณ์สำหรับการตรวจยืนยันรูปแบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม กลุ่มตัวอย่างในการตอบแบบสอบถามจำนวน 74 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและนักวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม กลุ่มบุคคลที่ใช้ตรวจสอบรางรูปแบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม จำนวน 6 คน และกลุ่มบุคคลที่ใช้ในการสังเคราะห์รูปแบบที่พึ่งประสงค์ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า สภาพปัจจุบันของระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้ง 8 ด้าน อยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 3.73 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า การกำหนดนโยบาย ค่าเฉลี่ย 3.73 การจัดองค์กร ค่าเฉลี่ย 3.86 การอำนวยการ ค่าเฉลี่ย 3.73 การประสานงาน ค่าเฉลี่ย 3.86 และการงบประมาณ ค่าเฉลี่ย 3.76 อยู่ในระดับสูง ยกเว้นการจัดการกำลังคนอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 3.54 ดังนั้นเทศบาลจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มพูนความรู้และทักษะของกำลังคนที่ปฏิบัติงานอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ ปัญหาของระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้ง 8 ด้าน พบว่า ทุกด้านมีปัญหาในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 4.31 แสดงว่าระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมของเทศบาลมีปัญหา กระบวนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ทุกองค์ประกอบมีการพัฒนาในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 3.91 เมื่อพิจารณาเป็นรายองค์ประกอบ พบว่า เมืองอยู่ดี ค่าเฉลี่ย 3.96 คนมีความสุข ค่าเฉลี่ย 3.81 สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ค่าเฉลี่ย 3.92 การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้และพัฒนา ค่าเฉลี่ย 3.88 การบริหารจัดการที่ดี ค่าเฉลี่ย 3.98 สภาพปัจจุบันและปัญหาของระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เป็นการยอมรับสมมติฐาน รูปแบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมของเทศบาลที่สำคัญ คือ การจัดการกำลังคน ดังนั้นเทศบาลต้องให้ความสำคัญกับการจัดการกำลังคน เนื่องจากกำลังคนที่มีความรู้ ความสามารถและมีทักษะในงานอนามัยสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้งานอนามัยสิ่งแวดล้อมบรรลุวัตถุประสงค์ รองลงมา คือ การวางแผนงบประมาณอย่างชัดเจน ช่วยทำให้การดำเนินงานตามแผนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้ผู้บริหารเทศบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะในการปฏิบัติงานอนามัยสิ่งแวดล้อม
Article Details
Journal of Safety and Health is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International (CC BY-NC-ND 4.0) licence, unless otherwise stated.