การเปรียบเทียบการบริหารงานของหัวหน้าแผนก กับการบริหารงานที่พึงประสงค์ของผู้ปฏิบัติการ ด้านการพยาบาลในโรงพยาบาลนวนคร

Main Article Content

สิริรักษ์ จีรปัญญากูล, สม. โรงพยาบาลนวนคร
สุรเดช ประดิษฐบาทุกา, วท.ม. (สาธารณสุขศาสตร์)
อารยา ประเสริฐชัย, ปร.ด. (วิจัยเพื่อการพัฒนาสุขภาพ)

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาคุณลักษณะส่วนบุคคล (2) ศึกษาระดับการบริหารงานภายในแผนก และการบริหารงานที่พึงประสงค์ของโรงพยาบาล และ (3) เปรียบเทียบการบริหารงานภายในแผนกกับการบริหารงานที่พึงประสงค์ของโรงพยาบาลประชากรที่ศึกษาคือผู้ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลในโรงพยาบาลนวนคร จังหวัดปทุมธานี ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือหัวหน้าแผนก และผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 129 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) แบบสอบถามลักษณะส่วนบุคคล 2) แบบสอบถามระดับการบริหารงานที่ปฏิบัติอยู่และการบริหารงานที่พึงประสงค์ แบบสอบถามทั้งฉบับมีค่าความเที่ยง 0.959 โดยมีอัตราการตอบกลับร้อยละ 78.29 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบียงเบนมาตรฐานวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว การทดสอบทีที่เป็นอิสระ ในส่วนของข้อมูลที่มีการกระจายตัวแบบปกติและในข้อมูลที่มีการกระจายตัวไม่ปกติจะใช้การทดสอบแมนวิทนีย์และการทดสอบครัสคอลวาลลิส ผลการวิจัยพบว่า (1) ผู้ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลเป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 80.2 มีอายุเฉลี่ย 30.73 ปี ส่วนใหญ่มีสถานภาพโสดมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 69.7 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 78.2 มีอายุงานเฉลี่ย 3.57 ปี โดยมีการปฏิบัติงานในแผนกผู้ป่วยในมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 31.7 (2) ในภาพรวมของการบริหารงานที่ปฏิบัติอยู่ตามความคิดเห็นของระดับผู้ปฏิบัติการอยู่ในระดับปานกลาง และมีความต้องการในการบริหารงานที่พึงประสงค์ในทุกด้านอยู่ในระดับมาก ส่วนในระดับหัวหน้าแผนก พบว่า ในภาพรวมของการบริหารงานที่ปฏิบัติอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกับการบริหารงานที่พึงประสงค์ที่พบว่าอยู่ในระดับมาก โดยด้านที่มีระดับการบริหารงานที่พึงประสงค์มากที่สุด คือ ด้านการควบคุม รองลงมาได้แก่ ด้านการสั่งการ ด้านการวางแผนและด้านการจัดองค์การ มีระดับการบริหารงานต่ำที่สุด และการบริหารงานภายในแผนกที่ปฏิบัติอยู่ตามความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานของโรงพยาบาลนวนคร ที่ตำแหน่งระดับปฏิบัติการ และระดับหัวหน้าแผนกในภาพรวม มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และ (3) การเปรียบเทียบความคิดเห็นของระดับผู้ปฏิบัติการในการบริหารงานภายในแผนกกับการบริหารงานที่พึงประสงค์พบว่า ประสบการณ์ทำงานของผู้ปฏิบัติการและหัวหน้าแผนกด้านการพยาบาลมีความคิดเห็นต่อการบริหารงานต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ความคิดเห็นต่อการบริหารงานภายในแผนกที่ปฏิบัติอยู่ของระดับปฏิบัติการอยู่ในระดับน้อย ระดับหัวหน้าแผนกอยู่ในระดับมาก

Article Details

บท
บทความวิจัย